“ปูนซีเมนต์ผสม ก่อ ฉาบ เท” กับ “ปูนสำเร็จรูป” ต่างกันอย่างไร

“ปูนซีเมนต์ผสม ก่อ ฉาบ เท” กับ “ปูนสำเร็จรูป” ต่างกันอย่างไร

“ปูนซีเมนต์ผสม ก่อ ฉาบ เท” กับ “ปูนสำเร็จรูป” ต่างกันอย่างไร

ปูนซีเมนต์ผสมสำหรับงานก่อ ฉาบ เท กับ ปูนสำเร็จรูปนั้น ใช้สำหรับงานก่อฉาบผนังและเทหล่อได้เหมือนกัน จะต่างที่ขั้นตอนและวิธีการใช้งาน ซึ่งช่างหรือผู้รับเหมาจะพิจารณาเลือกใช้ตามความเหมาะสม

ในงานก่อฉาบผนัง หรือแม้แต่งานเทหล่อส่วนประกอบตกแต่งหรือโครงสร้างเล็กๆ ซึ่งไม่ต้องรับน้ำหนักมากนัก วัสดุที่จะต้องพูดถึงคงหนีไม่พื้น “ปูนซีเมนต์ผสมสำหรับงานก่อ ฉาบ เท” ซึ่งมีคุณสมบัติเหนียวลื่น ยึดเกาะเนื้ออิฐและผนังได้ดี แห้งตัวพอเหมาะ ไม่ยืดหรือหดตัวมาก ช่วยลดการแตกร้าวที่ผิวผนังได้ เหมาะสำหรับงานก่ออิฐ ฉาบปูน เทปรับระดับพื้นก่อนติดตั้งวัสดุปิดผิว งานเทคอนกรีตโครงสร้างขนาดเล็ก (เช่น ตอม่อ เสา คาน พื้น ของบ้านชั้นเดียว พื้นลานหน้าบ้าน เป็นต้น) รวมถึงงานปูนปั้น เช่น งานปั้นบัว อ่างซีเมนต์ เป็นต้น (บ้านสร้างใหม่)

“ปูนซีเมนต์ผสม ก่อ ฉาบ เท” กับ “ปูนสำเร็จรูป” ต่างกันอย่างไร 1
ภาพ: ตัวอย่างปูนซีเมนต์ผสม สำหรับงานก่อ ฉาบ เท

ในขั้นตอนการทำงาน ช่างจะใช้ปูนซีเมนต์ผสมสำหรับงานก่อ ฉาบ เท มาผสมกับทรายและน้ำในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับการใช้งานแต่ละแบบ ยกตัวอย่างเช่น

• งานก่ออิฐ ใช้ปูนซีเมนต์ และ ทรายหยาบ (ทรายหยาบตามคุณภาพมาตรฐาน มอก. 598) ผสมกันในอัตราส่วน ประมาณ 1 : 2.5 ถึง 1 : 3

• งานฉาบปูนชั้นแรก ใช้ปูนซีเมนต์ และทรายละเอียด (เม็ดทรายขนาด 0.5 – 1.5 มม. คุณภาพมาตรฐาน มอก. 1776) ในอัตราส่วน ประมาณ 1 : 2.5 ถึง 1 : 3 ช่างปูนประเภทนี้ช่างปูนนิยมเรียกว่า “ปูนเค็ม” เพราะมีสัดส่วนของปูนซีเมนต์อยู่มาก ทำให้ยึดเกาะกับผนังได้ดี แต่ก็จะหดตัวได้มากและแต่งผิวยากเช่นกัน

• งานฉาบปูนชั้นที่ 2 ใช้ปูนซีเมนต์และทราย ในอัตราส่วนประมาณ 1 : 3 ถึง 1 : 4 หรือที่เรียกกันว่า “ปูนจืด” เนื่องจากมีทรายมากกว่า จึงหดตัวน้อย และแต่งผิวง่ายกว่าปูนเค็ม จึงเหมาะกับการฉาบผิวหน้าเพราะไม่ค่อยแตกร้าวหรือแตกลายงา

สำหรับงานเทพื้น จะต้องมีหินเป็นส่วนผสมอยู่ด้วย ทั้งนี้ อัตราส่วนผสมต่างๆ ขึ้นอยู่กับปูนซีเมนต์ของผู้ผลิตแต่ละรายและคุณภาพของทราย นอกจากนี้ปริมาณการผสมน้ำยังต้องสัมพันธ์กับความชื้นของทรายด้วย ปัจจัยทั้งหมดล้วนมีผลต่อคุณภาพงานก่อสร้าง ดังนั้น การใช้ปูนซีเมนต์ผสมสำหรับงานก่อ ฉาบ เท จึงต้องควบคุมส่วนผสมให้ได้มาตรฐาน ทั้งสัดส่วนและคุณภาพของสิ่งที่นำมาผสม เม็ดทรายต้องมีขนาดเหมาะสม ไม่ผุกร่อน สะอาด ไม่มีวัชพืช สารอินทรีย์ (เมล็ดพืช ซากพืช ซากสัตว์) หรือสารเคมีเจือปน ไม่มีสภาพเป็นกรด ด่าง หรือเกลือปนอยู่ และน้ำที่นำมาผสมต้องสะอาด

“ปูนซีเมนต์ผสม ก่อ ฉาบ เท” กับ “ปูนสำเร็จรูป” ต่างกันอย่างไร 2
ภาพ: การผสมปูน (ซ้ายบน) การก่อผนังอิฐ (ซ้ายล่าง) และการฉาบผนัง (ขวา)

อย่างไรก็ตาม ในวงการก่อสร้างเรามีตัวช่วยที่ทำให้สะดวกขึ้น นั่นคือ “ปูนมอร์ตาร์สำเร็จรูป” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “ปูนสำเร็จรูป” เป็นปูนซีเมนต์ ที่ผสมหินบดละเอียดและสารพิเศษไว้เรียบร้อยแล้ว สัดส่วนการผสมและคุณภาพของวัตถุดิบถูกควบคุมให้มีความสม่ำเสมอ เมื่อนำมากับผสมน้ำตามสัดส่วนที่เหมาะสมแล้วกวนให้เข้ากัน สามารถใช้งานได้ทันที ไม่ต้องผสมทรายหรือสารเคมีเพิ่มเติม ปูนสำเร็จรูปแต่ละแบบจะถูกแยกประเภทตามการใช้งานโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็น งานก่อทั่วไป งานฉาบทั่วไป งานฉาบละเอียด งานเทปรับพื้น งานซ่อมอเนกประสงค์ เป็นต้น ปูนแต่ละถุงจึงใช้ได้เฉพาะสำหรับงานนั้นๆ อย่างปูนสำเร็จรูปสำหรับงานก่อทั่วไป จะใช้สำหรับงานก่อผนังอย่างเดียว ไม่สามารถนำมาฉาบผนังได้ เป็นต้น (ยกเว้นปูนสำเร็จรูปบางรุ่นที่บนถุงจะระบุการใช้งานมากกว่า 1 ประเภท)

“ปูนซีเมนต์ผสม ก่อ ฉาบ เท” กับ “ปูนสำเร็จรูป” ต่างกันอย่างไร 3
ภาพ: ตัวอย่างปูนสำเร็จรูปสำหรับงานประเภทต่างๆ
“ปูนซีเมนต์ผสม ก่อ ฉาบ เท” กับ “ปูนสำเร็จรูป” ต่างกันอย่างไร 4
ภาพ: ตัวอย่างปูนสำเร็จรูปที่ใช้งานได้มากกว่า 1 ประเภท คือสามารถใช้ได้ทั้งงานก่อและเท

สรุปว่า “ปูนซีเมนต์ผสมสำหรับงานก่อ ฉาบ เท” และ “ปูนสำเร็จรูป” นั้นใช้สำหรับงาน ก่อฉาบผนัง และเทหล่อ แบบเดียวกัน ต่างตรงที่ปูนซีเมนต์ผสมสำหรับงานก่อ ฉาบ เท เป็นวัตถุดิบที่สามารถนำมาผสมเพื่อการใช้งานได้หลากหลาย เพียงแต่ต้องความชำนาญของช่างในเรื่องการควบคุมมาตรฐานของส่วนผสม ส่วนปูนมอร์ตาร์สำเร็จรูป จะสะดวกกว่า คือสามารถผสมน้ำแล้วใช้ได้เลย ช่วยลดขั้นตอนการทำงานของช่าง ทำให้ทำงานได้ง่ายขึ้น ลดปัญหาปูนทรายไม่ได้มาตรฐานทั้งเรื่องอัตราส่วนและคุณภาพของทรายที่นำมาผสม อย่างไรก็ตามในการสั่งซื้อปูนสำเร็จรูปมาใช้ จะต้องกะปริมาณให้ดี เพราะปูนจะใช้ได้เฉพาะประเภทงานตามที่ระบุบนถุงเท่านั้น หากขาดหรือเกินจะนำมาใช้งานข้ามประเภทกันไม่ได้

ในการเลือกใช้ อาจพิจารณาตามปัจจัยและรายละเอียดของงานก่อสร้าง หากเป็นงานเฉพาะเจาะจง เช่น งานผนังอิฐมวลเบา แนะนำให้ใช้ปูนสำเร็จรูปสำหรับก่อและฉาบอิฐมวลเบาโดยเฉพาะ เนื่องจากอิฐมวลเบามีการยืดหดตัวที่แตกต่างจากอิฐมอญ เป็นต้น แต่ถ้าเป็นการก่อ ฉาบ หรือเททั่วไป สามารถเลือกตามความถนัด ความชำนาญ และประสบการณ์ของช่างหรือผู้รับเหมาแต่ละราย ซึ่งอาจเหมาะสมแตกต่างกันตามลักษณะการทำงาน

“ปูนซีเมนต์ผสม ก่อ ฉาบ เท” กับ “ปูนสำเร็จรูป” ต่างกันอย่างไร 5
ภาพ: ปูนสำเร็จรูปสำหรับการก่อ ฉาบผนังอิฐมวลเบา
“ปูนซีเมนต์ผสม ก่อ ฉาบ เท” กับ “ปูนสำเร็จรูป” ต่างกันอย่างไร 6
ภาพ: ตัวอย่างเปรียบเทียบปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ก่อ ฉาบ เท ทั่วไป กับปูนสำเร็จรูปในงานต่างๆ

ขอขอบคุณแหล่งที่มาอ้างอิง: ปูนซีเมนต์และการประยุกต์ใช้งาน (Cement and Applications), เครือซิเมนต์ไทย, บริษัทปูนซิเมนต์ไทยอุสาหกรรม จำกัด, 2548

ขอขอบคุณที่มาของบทความ
www.scghome.com

ใส่ความเห็น

×

Cart