ต่อเติมครัวหลังบ้าน

ต่อเติมครัวหลังบ้าน

ต่อเติมครัวหลังบ้าน

ต่อเติมครัวหลังบ้าน นับเป็นอีกหนึ่งงานต่อเติมที่นิยมทำกันบริเวณหลังบ้าน ซึ่งโดยทั่วไปมักประกอบด้วยพื้นคอนกรีต หลังคาสำหรับกันฝน โดยอาจมีผนังทึบหรือผนังโปร่งตามความเหมาะสม ทั้งนี้ การเลือกรูปแบบโครงสร้างกับวัสดุที่จะใช้ต่อเติม ควรคำนึงให้สอดคล้องกับลักษณะของพื้นที่และปัจจัยด้านการใช้งาน

ก่อนจะต่อเติมครัวหลังบ้าน ควรพิจารณาเรื่องพื้นเป็นอันดับแรก หากตำแหน่งดังกล่าวเป็นพื้นดิน ให้พิจารณาการเทพื้นคอนกรีตซึ่งส่วนใหญ่มักเป็น Slab on Ground หรือหากต้องการชลอการทรุดตัวอาจลงเสาเข็มสั้นแบบปูพรม อย่างไรก็ตาม บริเวณหลังบ้านที่ใช้ต่อเติมครัวนั้นมักเป็นแหล่งรวมอุปกรณ์งานระบบของบ้าน ทั้งถังบำบัดน้ำเสีย ถังเก็บน้ำ ปั๊มน้ำ พร้อมแนวท่อน้ำดีน้ำเสีย  สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงก่อนจะเทพื้น เช่น จะเลี่ยงตำแหน่งฝาเปิดของถังบำบัดน้ำเสียหรือถังเก็บน้ำใต้ดินได้อย่างไร หรือหากต้องการลงเสาเข็มแบบปูพรม ก็ต้องพิจารณาว่า ใต้พื้นดินมีแนวท่อหรืออุปกรณ์อื่นๆ ขวางอยู่หรือไม่

เมื่อเทพื้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ทำโครงสร้างเสาอีกชุดสำหรับรองรับโครงหลังคาใหม่โดยไม่ฝากกับโครงสร้างบ้านเดิม เพื่อที่เวลาพื้นส่วนต่อเติมทรุดตัว จะได้ไม่ดึงรั้งโครงสร้างบ้านเดิมจนเสียหาย (หากจำเป็นต้องยึดโครงหลังคาใหม่เข้ากับโครงสร้างบ้านเดิม ควรทำจุดเชื่อมต่อให้สามารถขยับได้)

ต่อเติมครัวหลังบ้าน 1
ภาพ: กรณีเทพื้นใหม่ ควรทำโครงสร้างใหม่สำหรับรองรับหลังคาโดยเฉพาะ (ดังภาพบน) เพื่อป้องกันมิให้โครงสร้างส่วนต่อเติมซึ่งทรุดตัวเร็วกว่า ดึงรั้งโครงสร้างบ้านเดิมจนเสียหาย (ดังภาพล่าง)
ต่อเติมครัวหลังบ้าน 2
ภาพ: หากจำเป็นต้องฝากโครงหลังคาใหม่ไว้กับโครงสร้างบ้านเดิม ควรทำจุดเชื่อมต่อให้ขยับได้เผื่อรองรับการทรุดตัว

กรณีตำแหน่งที่ต้องการต่อเติมครัวเป็นพื้นคอนกรีตอยู่แล้ว ให้ลองพิจารณาเรื่องโครงสร้างที่รองรับพื้น  หากเป็นพื้น Slab on Ground โดยปราศจากเสาเข็ม หรือมีเพียงฐานเข็มปูพรมรองรับ ให้ทำโครงสร้างเสาแยกอีกชุดสำหรับรองรับโครงหลังคาส่วนต่อเติมเช่นเดียวกับกรณีเทพื้นใหม่  ในทางกลับกัน หากพื้นนั้นถ่ายน้ำหนักไปที่โครงสร้างชุดเดียวกับโครงสร้างบ้าน ก็อาจฝากโครงหลังคาส่วนต่อเติมใหม่เข้ากับโครงสร้างบ้านเดิมได้

ทั้งนี้ ในการต่อเติมครัวหลังบ้าน ไม่ว่าจะใช้พื้นเดิมหรือเทพื้นใหม่ก็ตาม หากต้องการต่อหลังคายื่นจากตัวบ้านไม่เกิน 2 เมตร อาจใช้วิธีที่ง่ายขึ้น คือ ติดตั้งหลังคากันสาดเข้ากับโครงสร้างบนผนังบ้านเดิม โดยเจ้าของบ้านสามารถเลือกได้ว่าจะสร้างหลังคากันสาดขึ้นมา หรือหาซื้อหลังคากันสาดสำเร็จรูปมาติดตั้ง

ต่อเติมครัวหลังบ้าน 3
ภาพ: การทำหลังคากันสาดติดกับผนังบ้านเดิม

สำหรับวัสดุมุงหลังคาที่ใช้ หากมีน้ำหนักเบา จะมีข้อดีคือช่วยลดภาระให้กับโครงสร้างส่วนต่อเติม กรณีวัสดุมุงหลังคาเป็นแบบทึบแสงจะช่วยกันได้ทั้งแดดและฝน  เช่น  หลังคาเหล็กรีดลอน (Metal Sheet) หลังคาไวนิล (PVC หรือ Poly Vinyl Chloride) หลังคา UPVC (Unplastizide Poly Vinyl Chloride) ในทางกลับกัน หากเจ้าของบ้านอยากได้แสงธรรมชาติให้เลือกใช้วัสดุมุงหลังคาแบบโปร่งแสง อย่างโพลีคาร์บอเนต (Polycarbonate) อะคริลิก (Acrylic)  ไฟเบอร์กลาส (Fiberglass)

ต่อเติมครัวหลังบ้าน 4
ภาพ: แผ่นหลังคาโปร่งแสงอะคริลิก Shinkolite พร้อมตัวเลขแสดงปริมาณที่แสงผ่านได้
ต่อเติมครัวหลังบ้าน 5
ภาพ: แผ่นโปร่งแสง เอสซีจี ลอนกันสาด สีต่างๆ สำหรับมุงหลังคา (ผลิตจากไฟเบอร์กลาส) พร้อมตัวเลขแสดงปริมาณที่แสงผ่านได้

ในการต่อเติมครัวหลังบ้าน นอกจากจะพิจารณาเรื่องพื้นและหลังคาแล้ว ควรคำนึงถึงการติดตั้งงานระบบที่จำเป็นสำหรับห้องครัวด้วย ไม่ว่าจะเป็นระบบน้ำดีสำหรับใช้กับอ่างล้างจาน การบำบัดน้ำเสีย โดยใช้ถังดักไขมันก่อนจะเดินท่อน้ำทิ้งต่อไปยังท่อระบายน้ำสาธารณะ รวมถึงระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ทั้งตำแหน่งปลั๊กที่เหมาะสมสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น กระติกน้ำร้อน เตาไฟฟ้า การติดตั้งไฟให้แสงสว่างทั้งบนฝ้าเพดานและพื้นที่ใช้งานต่างๆ เช่น ใต้ตู้ลอย เหนือเคาน์เตอร์ครัวและเคาน์เตอร์อ่างล้างจาน เป็นต้น

ใส่ความเห็น

×

Cart