บ้านนี้ประหยัดค่าไฟ 5 วิธีปรับบ้านอย่างฉลาดเพื่อ Smart Living

บ้านนี้ประหยัดค่าไฟ 5 วิธีปรับบ้านอย่างฉลาดเพื่อ Smart Living

บ้านนี้ประหยัดค่าไฟ 5 วิธีปรับบ้านอย่างฉลาดเพื่อ Smart Living

บ้านนี้ประหยัดค่าไฟ 5 วิธีปรับบ้านอย่างฉลาดเพื่อ Smart Living   หากให้ยกตัวอย่างวิธีประหยัดค่าไฟ ผู้อ่านมีตัวเลือกใดที่ใช้ลดค่าไฟได้บ้างครับ บางท่านอาจใช้วิธีรีดผ้าพร้อมกันหลาย ๆ ตัว, ปิดหลอดไฟเมื่อไม่ได้ใช้งาน, ปรับอุณหภูมิแอร์ ไม่ต่ำกว่า 27 องศาเซลเซียส และอีกหลากหลายสารพัดวิธีประหยัดค่าไฟ ที่เน้นไปที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งาน 

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดค่าไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ดีครับ แต่ผลลัพธ์ที่ได้อาจลดค่าไฟได้เพียง 10% เท่านั้น เนื้อหานี้ จึงนำแนวทางปรับบ้านอย่าง Smart Living ด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาผนวกร่วมกับบ้านของเรา ช่วยให้บ้านเย็นและประหยัดค่าไฟอย่างยั่งยืน ซึ่งหากทำครบตามเนื้อหานี้ อาจลดค่าไฟฟ้าจากเดิมได้ 50-70% เลยครับ

อะไรคือต้นเหตุของค่าไฟแพง ?

ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นมาก เกิดจากการใช้งานเครื่องไฟฟ้าที่มีกำลังวัตต์สูง หากใครเคยเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ด้วยตนเอง จะสังเกตได้ว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกประเภทมีข้อมูลกำลังวัตต์บอกกำกับด้วยเสมอ “กำลังวัตต์ คือ พลังงานไฟฟ้าที่ต้องใช้ในอุปกรณ์นั้น ๆ” ยิ่งมีกำลังวัตต์สูงมาก เปิดใช้งานมาก ค่าไฟย่อมสูงตาม เช่น เครื่องปรับอากาศ มีกำลังวัตต์ 1,500 – 3,000 วัตต์ หากเปิดใช้งาน 1 ชั่วโมง ต้องจ่ายค่าไฟประมาณ 6 -15 บาท แต่หากเป็นพัดลมตั้งพื้น มีกำลังวัตต์เพียง 30 – 75 วัตต์ กินค่าไฟประมาณชั่วโมงละ 10 – 30 สตางค์ นั่นหมายถึง หากเปิดพัดลมทิ้งไว้ตลอดทั้งเดือน ก็ยังสู้ค่าไฟเครื่องปรับอากาศที่เปิดใช้เพียง 1 วันไม่ได้ 

ภายในบ้านแต่ละหลังจะมีอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าหลักไม่ต่ำกว่า 10 ชนิด โดยอุปกรณ์ที่กินพลังงานสูงมักเป็นอุปกรณ์ที่มีผลต่ออุณหภูมิ ร้อน เย็น เช่น หม้อทอดไฟฟ้า, เครื่องทำน้ำอุ่น, เครื่องทำน้ำร้อน, เตารีด, เครื่องปรับอากาศ หรืออุปกรณ์ที่ใช้กำลังมอเตอร์สูง เช่น เครื่องซักผ้า , เครื่องดูดฝุ่น ก็จะมีกำลังวัตต์ที่สูงเช่นกันครับ แต่กำลังวัตต์ของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สูง ก็ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าจะทำให้สิ้นเปลืองค่าไฟมาก อย่างเครื่องทำน้ำอุ่นแม้จะใช้กำลังวัตต์สูง แต่โดยปกติคนเราอาบน้ำกันเพียง 5-15 นาทีเท่านั้น สิ่งที่กินพลังงานไฟฟ้ามาก จึงต้องมีกำลังวัตต์สูง และเปิดใช้งานต่อเนื่องยาวนาน 

เมื่อพิจารณากำลังวัตต์และระยะเวลาเปิดใช้งานกันแล้ว ทำให้เห็นชัดว่า เครื่องปรับอากาศเป็นส่วนสำคัญที่มีผลกับค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ต้นเหตุที่แท้จริงครับ เพราะเหตุปัจจัยที่ทำให้เราเปิดใช้งานเครื่องปรับอากาศมาก คือ “บ้านร้อน” การปรับบ้านให้เกิดสภาวะอยู่สบาย กับการลดค่าไฟฟ้าจึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้เลยครับ เพราะเมื่อบ้านเย็นอยู่สบาย การใช้พลังงานไฟฟ้าย่อมลดลงตาม 

บ้านนี้ประหยัดค่าไฟ 5 วิธีปรับบ้านอย่างฉลาดเพื่อ Smart Living

5 วิธีลดบ้านร้อน ประหยัดค่าไฟ ด้วยกลไกธรรมชาติ

บังแดดให้บ้าน

ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้บ้านสะสมความร้อน คือ แสงแดดที่สาดส่องลงมาทางหลังคาและผนังบ้าน การป้องกันความร้อนด่านแรกอย่างตรงไปตรงมา คือ การลดปริมาณแสงแดดเพื่อไม่ให้มีผลกับบ้านของเรามากเกินไป หากเป็นบ้านใหม่ การออกแบบรูปทรงหลังคามีผลกับการสะสมความร้อนในบ้านมากครับ โดยหลังคาที่ดีจะต้องมีโถงหลังคาสูง มีชายคายื่นยาว 1-1.5 เมตร ส่วนบ้านเก่าหรือบ้านสร้างเสร็จแล้ว สามารถเพิ่มคุณสมบัติกันร้อนด้วยการติดตั้งฉนวนกันร้อนใต้หลังคาบ้าน

ส่วนความร้อนที่เข้าผ่านผนังบ้าน มักมีผลกับทิศตะวันตกและทิศใต้ เนื่องด้วยค่าเฉลี่ยของประเทศไทย พระอาทิตย์จะอ้อมทางทิศใต้ประมาณ 9 เดือน ส่วนทิศตะวันตกมีผลตลอดทั้งปี หากบ้านของเรามีพื้นที่ข้างบ้านเหลือประมาณ 3 เมตรขึ้นไป แนะนำให้ปลูกไม้ยืนต้นฝั่งทิศใต้ ตะวันตกเฉียงใต้ และทิศตะวันตกครับ เพื่อให้ต้นไม้ช่วยบดบังแสงแดด ให้ร่มเงากับตัวบ้าน และยังช่วยกรองลมร้อนให้เย็นลง ก่อนพัดเข้าสู่ตัวบ้าน

บ้านนี้ประหยัดค่าไฟ 5 วิธีปรับบ้านอย่างฉลาดเพื่อ Smart Living
ภาพ: ประกอบเครดิต Punplan

แต่หากมีพื้นที่ว่างน้อย การปลูกต้นไม้อาจทำได้ลำบากและอาจมีปัญหากับเพื่อนบ้านข้างเคียง แนะนำให้ติดตั้งระแนงบังแดดเสริมครับ โดยการติดตั้งระแนง หากต้องการให้ระแนงมีประสิทธิภาพในการบังแดดได้ดี จะต้องออกแบบระแนงให้เหมาะสมกับองศาแดดในแต่ละช่วงเวลา โดยให้เลือกติดตั้งระแนงบังแดดตามแนวนอน ในทิศเหนือและทิศใต้ ส่วนระแนงแนวตั้งเหมาะกับทิศตะวันออกและทิศตะวันตก ส่วนทิศที่อยู่กึ่งกลาง เช่น ตะวันออกเฉียงใต้ ใช้ได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน หรือลักษณะผสม อย่างไรก็ตามคำแนะนำนี้เป็นเพียงหลักการเบื้องต้น การใช้งานจริงอาจต้องพิจารณาถึงความสวยงามควบคู่ไปด้วยครับ

เมื่ออากาศถ่ายเทได้ ภายในบ้านก็อยู่สบาย

เคยจอดรถยนต์ไว้กลางแดดนาน ๆ ไหมครับ เมื่อเปิดประตูรถเข้ามาแล้ว ไม่ต่างอะไรกับเตาอบเลยใช่ไหม หากใครเจอสถานการณ์เช่นนี้ แนะนำให้ลดกระจกแต่ละด้านลง แล้วค่อย ๆ เคลื่อนรถออกไปเพื่อให้ลมจากภายนอกพัดผ่านเข้ามา จากนั้นค่อยทำการเปิดแอร์และปิดกระจกเมื่ออากาศเย็นลง วิธีการนี้จะทำให้ภายในรถเย็นลงอย่างรวดเร็วด้วยหลักการถ่ายเทอากาศ อากาศใหม่จากภายนอกจะเข้ามาแทนที่อากาศร้อนที่สะสมภายในรถยนต์

บ้านของเราก็เช่นกันครับ หากปิดประตูหน้าต่างทิ้งไว้ตลอดทั้งวัน ไม่มีอากาศใหม่ให้หมุนเวียนเลย ย่อมส่งผลให้ความร้อนเกิดการสะสมตัวมาก การอยู่อาศัยภายในบ้านที่ถูกวิธี จำเป็นจะต้องเปิดหน้าต่างให้อากาศหมุนเวียน “โดยหลักการหมุนเวียนอากาศจะต้องมีช่องลมเข้าและช่องลมออกเสมอ” ดังนั้น หากกลับมาบ้านแล้วรู้สึกว่าภายในร้อนอบอ้าวมาก ให้รีบเปิดหน้าต่างออกก่อนที่จะเปิดแอร์ จะช่วยให้แอร์ไม่ต้องทำงานหนักเกินไป ช่วยลดค่าไฟฟ้าไปได้เยอะครับ หรือปรับเปลี่ยนบานหน้าต่างบางบานให้มีฟังก์ชันระบายอากาศได้ เช่น เลือกใช้หน้าต่างบานเกล็ด ช่วยให้เปิดรับลมธรรมชาติได้และยังให้ความปลอดภัย 

บ้านนี้ประหยัดค่าไฟ 5 วิธีปรับบ้านอย่างฉลาดเพื่อ Smart Living

อีกวิธีที่ช่วยกระตุ้นกลไกการหมุนเวียนอากาศภายในบ้านได้ คือ การติดตั้ง Active Airflow System เป็นระบบที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้บ้านเกิดการหมุนเวียนอากาศ แม้จะปิดประตูหน้าต่างทุกบานก็ตาม ระบบดังกล่าวใช้กลไกธรรมชาติโดยการออกแบบช่องลมเข้าผ่านทางผนังบ้าน มีพัดลมดูดอากาศติดตั้งบริเวณฝ้าเพดาน เพื่อดูดอากาศร้อนที่สะสมภายในบ้านออกทางช่องระบายอากาศที่ติดตั้งไว้บนหลังคาบ้าน วิธีการนี้ไม่เพียงแค่ลดความร้อนภายในบ้าน แต่ยังเป็นส่วนป้องกันไม่ให้ความร้อนที่สะสมใต้โถงหลังคาแผ่รังสีเข้ามาภายในบ้านด้วยครับ 

เลือกสีดี มีชัยไปกว่าครึ่ง

เฉดสีไม่ได้มีผลเพียงแค่อารมณ์ความรู้สึกเท่านั้น แต่สียังมีผลกับการดูดซับและสะท้อนความร้อนด้วยครับ โดยสีที่มีคุณสมบัติสะท้อนความร้อนได้ดีเป็นสีโทนสว่าง เช่น สีขาว สีครีม สีฟ้า หรือสีใด ๆ ที่มีความอ่อน ส่วนสีที่มีคุณสมบัติดูดซับความร้อนได้ดี เป็นสีโทนมืด เช่น สีดำ หรือสีใด ๆ ที่มีความเข้มสูง ดังนั้น หากเปรียบเทียบบ้าน 2 หลัง ออกแบบเหมือนกัน วางในทิศทางเดียวกัน ได้รับแสงแดดเท่า ๆ กัน บ้านที่ทาสีดำจะได้รับความร้อนมากกว่าบ้านที่ทาด้วยสีขาวครับ

บ้านนี้ประหยัดค่าไฟ 5 วิธีปรับบ้านอย่างฉลาดเพื่อ Smart Living

การเลือกสีทาบ้าน รวมทั้งสีหลังคาบ้าน หากไม่ติดเรื่องดีไซน์หรือความชื่นชอบส่วนตัว แนะนำให้เลือกสีโทนอ่อน จะช่วยลดอุณหภูมิภายในบ้านได้ดีกว่าสีโทนเข้ม แต่หากต้องการเลือกใช้สีโทนเข้ม แนะนำให้เจาะจงสีที่มีคุณสมบัติสะท้อนรังสีความร้อน สีประเภทนี้ผู้ผลิตจะเพิ่มสารเคลือบพิเศษ เช่น เซรามิค , Titanium Dioxide รวมทั้งการผลิตที่ให้เม็ดสีมีความเกลี้ยงของผิว จึงช่วยสะท้อน UV ได้ดีกว่าสีทั่วไป

การเลือกสีทาบ้าน ไม่ได้มีผลเฉพาะภายนอกเท่านั้น หากภายในบ้านเลือกใช้โทนสีสว่างอย่างสีขาว จะช่วยให้ภายในมีความสว่างมากกว่าสีโทนมืด จึงช่วยลดอัตราการเปิดดวงไฟได้ดีกว่าครับ

เปลี่ยนแดดร้อน ให้เป็นพลังงานไฟฟ้า

อ่าน 3 หัวข้อข้างต้น อาจทำให้หลายท่านรู้สึกกลัวแสงแดด ความจริงแล้วแสงแดดจากดวงอาทิตย์มีประโยชน์สูงมากครับ โดยเฉพาะการนำแสงแดดมาเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าทดแทนด้วยแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งจากการสำรวจบ้านที่ได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ สามารถลดค่าไฟรายเดือนจากค่าไฟปกติได้ประมาณ 40-60% โดยจะลดได้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับกำลังการผลิตไฟฟ้าและช่วงเวลาของการใช้งาน 

บ้านที่เหมาะสมกับการติดตั้งโซลาร์เซลล์ คือ บ้านที่มีผู้อยู่อาศัยหรือใช้งานไฟฟ้าช่วงกลางวัน ซึ่งประจวบเหมาะกับการอยู่อาศัยยุคปัจจุบันที่คนรุ่นใหม่นิยมทำงานอิสระ (Freelance) ทำธุรกิจส่วนตัวที่บ้าน และยังสอดรับกับสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด ทำให้คนทำงานออฟฟิศทั่วไปต้องเปลี่ยนมานั่งทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home กันมากขึ้น ส่วนเด็ก ๆ วัยเรียนจำเป็นต้องเรียนออนไลน์ ต้องใช้ทั้งคอมพิวเตอร์ ทีวี เครื่องปรับอากาศ รวมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ มากกว่าปกติเป็นเท่าตัว หากมีแผงโซลาร์เซลล์ติดตั้งไว้บนหลังคาบ้าน ก็จะสามารถใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้โดยตรงครับ 

บ้านนี้ประหยัดค่าไฟ 5 วิธีปรับบ้านอย่างฉลาดเพื่อ Smart Living

อ่านมาถึงจุดนี้ อย่าเพิ่งด่วนใจร้อนตัดสินใจติดตั้งโซลาร์เซลล์ทันที เพราะการติดตั้งโซลาร์เซลล์แม้จะใช้ไฟฟ้าได้ฟรี แต่ก็ต้องแลกมาด้วยต้นทุนค่าติดตั้งและต้องใช้ระยะเวลา 5-7 ปี ถึงจะคืนทุน ลองตรวจเช็ครายการต่อไปนี้ เพื่อสำรวจว่า บ้านของเราเหมาะกับลงทุนแผงโซลาร์เซลล์หรือไม่

  •  มีผู้อยู่อาศัยภายในบ้านช่วงกลางวัน หรือมีเครื่องใช้ไฟฟ้าใด ๆ ที่ต้องเปิดใช้งานตลอดเวลา เช่น ระบบงานสระว่ายน้ำ
  • หลังคาบ้านฝั่งทิศใต้หรือทิศตะวันตก ไม่มีอาคารสูง หรือต้นไม้ใหญ่มาบดบังแสงแดด เนื่องด้วยโซลาร์เซลล์รับพลังงานได้ดีที่สุดทางทิศใต้ และลองลงมาตะวันตกเฉียงใต้ และทิศตะวันตก
  • ค่าไฟฟ้ารายเดือน 2,000 – 3,000 บาทขึ้นไป ยิ่งค่าไฟรายเดือนสูงมาก ยิ่งคุ้มทุนไวครับ

หากประเมินแล้วว่า บ้านของเราเหมาะกับลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ สิ่งสำคัญต่อมาคือผู้ให้บริการ จะต้องมีวิศวกรผู้เชี่ยวชาญควบคุมงานติดตั้ง, มีการรับประกันหลังการขาย และหากมีแอปพลิเคชันเพื่อใช้ในการตรวจสอบการทำงาน ตรวจเช็คการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ด้วยก็จะยิ่งดีครับ 

บ้านนี้ประหยัดค่าไฟ 5 วิธีปรับบ้านอย่างฉลาดเพื่อ Smart Living

เลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดค่าไฟตั้งแต่ต้น

แม้จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้มีการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าน้อยลงแค่ไหน หากเครื่องใช้ไฟฟ้าดังกล่าวกินพลังงานไฟฟ้าสูง ก็ยากที่จะลดค่าไฟฟ้าให้ได้ครับ “เปรียบเสมือนการเดินทาง แม้จะขับรถเร็วแค่ไหนก็ไม่สามารถประหยัดเวลาได้ดีกว่าการนั่งเครื่องบิน” การเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติประหยัดค่าไฟตั้งแต่ต้น จึงช่วยประหยัดค่าไฟในระยะยาวได้ดีกว่าครับ

หากเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป แนะนำให้เลือกที่มีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 กำกับด้วยเสมอ โดยปกติรุ่นที่มีฉลากเบอร์ 5 จะมีราคาสูงกว่าเล็กน้อย แต่ในระยะยาวแล้วคุ้มกว่ากันมากครับ ส่วนเครื่องปรับอากาศที่เป็นส่วนสำคัญให้ค่าไฟฟ้าในบ้านสูง ควรเลือกรุ่นที่ใช้ระบบ Inverter เท่านั้น โดยเฉลี่ยรุ่น Inverter ใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยกว่ารุ่นทั่วไปประมาณ 40-50% เลยครับ หากเปิดใช้งานทุก ๆ วัน ไม่เกิน 1 ปี ส่วนต่างค่าไฟก็อาจคุ้มทุนส่วนต่างค่าเครื่องปรับอากาศแล้ว ส่วนปีที่เหลือคือกำไร

บ้านนี้ประหยัดค่าไฟ 5 วิธีปรับบ้านอย่างฉลาดเพื่อ Smart Living

เมื่อบ้านถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับกลไกธรรมชาติ และสอดประสานตัวช่วยซึ่งเป็นนวัตกรรมสมัยใหม่เข้าไปอย่างเหมาะสม ผลลัพธ์ที่ได้ นอกจากค่าไฟฟ้าที่ลดน้อยลงอย่างยั่งยืน ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน ยังพ่วงคุณภาพชีวิตในการอยู่อาศัยภายในบ้านให้สบายทั้งกาย สบายทั้งใจ นับเป็นวิถี Smart Living อย่างแท้จริง 

ติดตาม
Facebook : SCGRatchaphruk

โพสต์นี้มีความคิดเห็นเดียว

  1. บ้านนี้ประหยัดค่าไฟ 5 วิธีปรับบ้านอย่างฉลาดเพื่อ Smart Living หากให้ยกตัวอย่างวิธีประหยัดค่าไฟ ผู้อ่านมีตัวเลือกใดที่ใช้ลดค่าไฟได้บ้างครับ บางท่านอาจใช้วิธีรีดผ้าพร้อมกันหลาย ๆ ตัว, ปิดหลอดไฟเมื่อไม่ได้ใช้งาน, ปรับอุณหภูมิแอร์ ไม่ต่ำกว่า 27 องศาเซลเซียส และอีกหลากหลายสารพัดวิธีประหยัดค่าไฟ ที่เน้นไปที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งาน

ใส่ความเห็น

×

Cart