ห้องนอนที่ปลอดภัยใช้งานสะดวกสำหรับผู้สูงอายุ
รายละเอียดและการออกแบบห้องนอนให้เหมาะสม ตอบโจทย์ และรองรับการใช้งาน เพื่อให้ผู้สูงอายุใช้งานได้อย่างสะดวกสบายและปลอดภัยมากที่สุด
ห้องนอนผู้สูงอายุ เป็นห้องที่ผู้สูงอายุใช้เวลาอยู่นานที่สุด จึงควรออกแบบภายในห้องนอนให้รองรับการใช้งาน ให้ผู้สูงอายุใช้งานได้อย่างเต็มที่ สามารถใช้งานได้อย่างมั่นใจและปลอดภัย ตั้งแต่เรื่อง ตำแหน่งห้องนอน ขนาดห้องที่เหมาะสม การออกแบบสเปซ ระยะต่างๆ ช่องแสงและแสงสว่าง การเลือกใช้วัสดุพื้น ราวจับทรงตัวต่างๆ เฟอร์นิเจอร์ รวมถึงอุปกรณ์เสริมต่างๆ (ดูแลรักษา)
อยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ได้สะดวก
ห้องนอนผู้สูงอายุควรอยู่ชั้นล่าง เพื่อลดการขึ้นลงบันได ให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงพื้นที่อื่นๆ ในบ้านได้อย่างสะดวก โดยเฉพาะห้องน้ำ (แต่หากต้องอยู่ชั้นบนก็ควรมีขนาดลูกตั้งลูกนอนที่เหมาะสมกับการก้าวขึ้นลงบันไดของผู้สูงอายุ และมีราวจับที่มั่นคง หรือติดตั้งอุปกรณ์ช่วยอำนวยความสะดวกในการขึ้นลงบันไดได้ เช่น Stair lift หรือลิฟต์บันได) ห้องนอนผูสูงอายุควรอยู่ในบริเวณที่สงบ มีความเป็นส่วนตัว และอากาศถ่ายเทได้สะดวก ได้รับแสงธรรมชาติเพื่อกระตุ้นให้เกิดความมีชีวิตชีวา
ผู้สูงอายุที่มีห้องนอนส่วนตัว จะช่วยให้พวกเขาสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างสะดวกสบาย เป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ แต่หากยังไม่มีห้องนอนส่วนตัวสำหรับผู้สูงอายุ เราอาจหาพื้นที่ในบ้านที่เหมาะสม เพื่อกั้นห้องเพิ่มเติมให้เป็นสัดส่วนได้เช่นกัน โดยแนะนำใช้ระบบผนังโครงเบาซึ่งติดตั้งได้ง่าย รวดเร็ว และไม่เพิ่มภาระให้กับโครงสร้างบ้านก
มีขนาดห้องเหมาะสม
ห้องนอนสำหรับผู้สูงอายุ 1 คน ควรมีขนาดพื้นที่อย่างน้อย 8 ตารางเมตร (กว้างอย่างน้อย 2.5 เมตร) สำหรับผู้สูงอายุ 2 คน ควรมีขนาดพื้นที่อย่างน้อย 16 ตารางเมตร เพื่อให้อยู่ในห้องนอนได้อย่างสะดวกสบาย ไม่อึดอัดเกินไปจนอาจทำให้เกิดความเครียดได้
ออกแบบสเปซภายในห้องอย่างดี
ภายในห้อง ควรมีพื้นที่สำหรับทางเดินที่โล่งพอให้ผู้สูงอายุเดินได้อย่างสะดวก ไม่มีอะไรกีดขวางทางเดินที่อาจเป็นอุปสรรคให้ผู้สูงอายุสะดุดหรือหกล้มได้
มีช่องแสงธรรมชาติ มีแสงสว่างภายในเพียงพอ
มีขนาดช่องแสงหรือหน้าต่างอยู่ในระดับที่เหมาะสม ให้ผู้สูงอายุได้รับแสงธรรมชาติ และเห็นวิวภายนอกได้อย่างเต็มที่ โดยยังให้ความรู้สึกปลอดภัย เลือกใช้ม่านที่เหมาะสม เช่น ม่าน 2 ชั้นที่ประกอบด้วยม่านทึบแสงเพื่อให้นอนหลับพักผ่อนได้อย่างเต็มที่ และม่านแบบโปร่งเพื่อกรองแสงในเวลากลางโดยยังคงความเป็นส่วนตัว ส่วนรูปแบบควรเลือกให้เหมาะสมตามบรรยากาศที่ผู้สูงอายุต้องการ
แสงสว่างจากหลอดไฟภายในห้องควรเป็นแบบ Indirect Light หรือไฟแบบซ่อน เพื่อให้สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ในห้องชัด แต่ไม่จ้าจนแยงตาเกินไป อาจติดตั้งไฟส่องสว่างอัจฉริยะที่สามารถเปิด-ปิดอัตโนมัติด้วยการตรวจจับความเคลื่อนไหว เพื่อนำทางเดินจากเตียงนอนไป-กลับห้องน้ำกลางดึก
มีกระจกเงาเพื่อให้ดูแลตัวเองและเพิ่มความมั่นใจ
มีกระจกเงาสำหรับส่องเพื่อให้ผู้สูงอายุดูแลตัวเอง และเป็นการเพิ่มความมั่นใจในตัวเองของผู้สูงอายุ ให้เป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่
พื้นเรียบได้ระดับ เลือกใช้วัสดุที่ช่วยลดแรงกระแทก
พื้นห้องนอนผู้สูงอายุ ควรเป็นพื้นเรียบในระดับเดียวกันทั้งหมด ไม่ควรมีธรณีประตู พื้นต่างระดับ รวมถึงเลือกใช้วัสดุที่มีพื้นผิวไม่ลื่น ติดตั้งให้เรียบร้อย ไม่มีส่วนกระเดิด และไม่ควรวางพรมหรือเสื่อเป็นบางส่วน เพื่อป้องกันการสะดุดหกล้ม หากเป็นห้องนอนที่มีห้องน้ำในตัว ก็ควรทำพื้นระดับเดียวโดยใช้ “รางน้ำทิ้งกันกลิ่นแบบยาว” เป็นตัวแบ่งพื้นที่ห้องน้ำและห้องนอนออกจากกัน เพื่อป้องกันน้ำไหลล้นออกมานอกห้องน้ำ ส่วนกรณีที่ต้องมีพรมเช็ดเท้าหน้าห้องน้ำ ให้เลือกแบบที่มีความหนืด ยึดเกาะกับพื้นผิวได้ดี
เลือกใช้วัสดุพื้นที่ช่วยลดแรงกระแทกจากการบาดเจ็บ เช่น ระบบพื้นลดแรงกระแทก “Peel & Place” หรือ พื้นลดแรงกระแทก “Shock Absorption Floor”
ติดตั้งราวจับทรงตัวช่วยอำนวยความสะดวกขณะเดิน
ติดตั้งราวจับทรงตัวในระดับที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุแต่ละคน (เช่น ผู้สูงอายุที่ต้องใช้ไม้เท้า ผู้สูงอายุที่ต้องใช้รถเข็น) โดยรอบห้อง และบริเวณที่มีการลุกนั่งบ่อยๆ โดยยึดอย่างมั่นคงแข็งแรง ติดตั้งให้เหมาะกับประเภทวัสดุผนัง หากเป็นผนังเบา แนะนำให้ยึดโดยใช้พุกผีเสื้อคู่กับตะปูเกลียว (เพื่อให้รับน้ำหนักได้ใกล้เคียงหรือมากกว่าการรับน้ำหนักของผนังก่ออิฐฉาบปูน)
เลือกเตียงเหมาะสม ฟูกนิ่มแต่ไม่ยวบ เฟอร์นิเจอร์ไม่มีเหลี่ยมมุม
สำหรับผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรงดี สามารถเลือกเตียงและที่นอนให้มีระดับความสูงพอดี เพื่อให้นั่งได้และลุกขึ้นยืนสะดวก หรือเลือกเตียงนอนที่สามารถปรับเอนได้ง่าย ปรับได้หลายระดับตามการใช้งาน เช่น ปรับสำหรับการดูทีวี ปรับเอนขึ้นให้ลุกนั่งได้สะดวก หรือปรับแบบนอนราบเพื่อการพักผ่อนนอนหลับที่เต็มอิ่ม รวมถึงมีราวจับข้างเตียงหรือราวกันตก เพื่อให้มั่นใจได้ทุกช่วงของการนอน
เลือกใช้ฟูกที่รองรับสรีระร่างกายของผู้สูงอายุได้อย่างดี มีความนุ่มพอดีไม่แข็งหรือนิ่มยวบจนเกินไป แนะนำให้มีพื้นที่ข้างเตียง 90-100 ซม. เพื่อให้เข้าถึงได้สะดวก รวมถึงคนดูแลก็สามารถเข้าไปดูแลได้ง่าย อีกทั้งรองรับการใช้งานของรถเข็นด้วย
ความกว้างความสูงของเฟอร์นิเจอร์เหมาะสม ไม่มีเหลี่ยมมุมที่เป็นอันตราย เพื่อลดโอกาสเกิดการบาดเจ็บหากเกิดอุบัติเหตุขึ้น แนะนำให้มีโต๊ะข้างเตียงที่หยิบของได้สะดวก (เช่น แว่นตา หนังสือ) ตู้เสื้อผ้าและชั้นวางของควรมีระดับความสูงที่เหมาะสม ให้หยิบของง่าย ไม่ต้องก้มหรือเอื้อม โดยจัดของให้เป็นระเบียบ
ใช้ประตูบานเลื่อนแบบไม่มีธรณีประตู
บริเวณประตูเข้าออก ไม่ควรมีธรณีประตูเพื่อป้องกันการสะดุด ควรเลือกประตูแบบบานเลื่อนเปิด-ปิด ที่มีระบบรางแขวนด้านบน ตัวล็อกใช้งานง่าย ใช้แรงน้อย เพื่อให้ผู้สูงอายุใช้งานได้สะดวก ถ้าจำเป็นต้องใช้บานเปิด ให้เลือกใช้ลูกบิดเขาควาย
ติดตั้งอุปกรณ์เสริมต่างๆ เพื่อความปลอดภัย
ติดตั้งอุปกรณ์ที่ช่วยดูแลความปลอดภัยผู้สูงอายุ เช่น ระบบที่มีเซ็นเซอร์ตรวจจับความเสี่ยงหากผู้สูงอายุหกล้ม ปุ่มกดฉุกเฉินเพื่อขอความช่วยเหลือ ระบบตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้น อุปกรณ์โทรหาลูกหลานแบบทันท่วงที (DoCare Product)
อุณหภูมิในห้องเหมาะสม ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป
ปรับอุณหภูมิห้องนอนให้เหมาะสม โดยเลือกเครื่องปรับอากาศที่มีคุณภาพ ปรับอุณหภูมิให้เหมาะสม ตั้งเวลาเปิดปิดได้ตามวิถีชีวิตและกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุแต่ละคน อาจะเลือกใช้เครื่องปรับอากาศที่มีระบบ inverter ซึ่งอุณหภูมิจะค่อนข้างคงที่ ไม่เย็นจัดเกินไป เหมาะสมกับร่างกายผู้สูงอายุ
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือ การออกแบบห้องนอนและการเลือกใช้วัสดุ เฟอร์นิเจอร์ที่เหมาะสม มีความปลอดภัย ตรงกับความชอบหรือไลฟ์สไตล์ของผู้สูงอายุแต่ละคน เพื่อให้พวกเขาสามารถใช้งานห้องนอนได้อย่างปลอดภัยและมีความสุขมากที่สุด และอย่าลืมใช้เวลาอยู่กับพวกเขา รวมทั้งหมั่นเอาใจใส่เรื่องสุขภาพ ความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ
ขอขอบคุณที่มาของบทความ
www.scghome.com