ต่อเติมครัวใหม่ ไฟฟ้าพร้อมใช้หรือไม่ ?

ต่อเติมครัวใหม่ ไฟฟ้าพร้อมใช้หรือไม่ ?

ต่อเติมครัวใหม่ ไฟฟ้าพร้อมใช้หรือไม่ ? เล่าหลักการเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าสำหรับงานต่อเติมครัว แบบปลอดภัยและลงตัวกับการใช้งาน โดยเฉพาะครัวต่อเติมซึ่งมีอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้กำลังไฟสูงจำนวนหลายชิ้น เช่น เตาอบ ตู้เย็น เครื่องดูดควัน ฯลฯ

เมื่อพูดถึงระบบไฟฟ้าในบ้านหรือในอาคารที่ดีได้มาตรฐาน จะต้องมีตู้ Consumer Unit ขนาดเพียงพอรองรับเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมด พร้อมจัดสรรเบรกเกอร์ย่อยที่ควบคุมไฟส่วนต่างๆ ให้สัมพันธ์กับการใช้งาน (มีขนาดแอมป์ที่เพียงพอ) มีการเดินสายไฟตามขนาดที่เหมาะสมกับอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ รวมถึงมีสายดินรองรับและติดตั้งอย่างถูกวิธี ซึ่งการต่อเติมครัวแต่ละครั้งก็ต้องยึดหลักการในการเตรียมระบบไฟฟ้าไม่ต่างจากนี้เช่นกัน

การต่อเติมครัวต้องคำนึงเรื่องระบบไฟฟ้า

นับเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ เนื่องจากบางครั้งครัวที่ต่อเติมจะมีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ต้องใช้กำลังไฟสูงอยู่หลายชิ้น เช่น เครื่องดูดควัน ไมโครเวฟ เตาไฟฟ้า เตาอบ หม้อทอดไร้น้ำมัน กระติกน้ำร้อน กาต้มน้ำไฟฟ้า ตู้เย็น ซึ่งเราควรวางแผนจัดการเรื่องระบบไฟฟ้าให้ดี มิเช่นนั้นอาจเกิดปัญหาได้

ปัญหาเรื่องขนาดกำลังไฟฟ้าของครัวต่อเติม

บางกรณีอาจพบว่าช่างทำการพ่วงระบบไฟฟ้าของครัวต่อเติมเข้ากับเบรกเกอร์ย่อยเดิมที่มีอยู่ภายในบ้าน (เช่น พ่วงกับเบรกเกอร์ปั๊มน้ำ พ่วงกับเบรกเกอร์ควบคุมไฟชั้นบนของบ้าน) โดยไม่ได้คำนึงว่าปริมาณกำลังไฟที่เพิ่มมาอาจมากเกินกว่าที่เบรกเกอร์ย่อยชุดนั้นจะรับได้ ผลคือ หากเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินกำลังไฟมากๆ พร้อมกัน เบรกเกอร์ที่คุมไฟฟ้าส่วนนั้นจะตัดทำให้ไฟฟ้าดับได้

ภาพ: ตัวอย่างครัวซึ่งเต็มไปด้วยเครื่องใช้ฟ้าที่ใช้กำลังไฟเยอะ
ภาพ: ตัวอย่างครัวซึ่งเต็มไปด้วยเครื่องใช้ฟ้าที่ใช้กำลังไฟเยอะ

ปัญหาตำแหน่งเต้ารับในครัวต่อเติมไม่เพียงพอกับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้

หากไม่ได้วางแผนเรื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าตั้งแต่แรก พอใช้งานครัวต่อเติมอาจพบว่าตำแหน่งปลั๊กเต้ารับที่ผนังมีไม่พอ วิธีแก้ที่มักใช้กันคือหันมาใช้ปลั๊กต่อแบบสายพ่วงแทน ซึ่งบางครั้งปลั๊กต่อสายพ่วงมีขนาดสายไฟที่เล็ก หากนำมาใช้กับอุปกรณ์ที่กินกำลังไฟสูงสายไฟอาจร้อนเกินไป ซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาใหญ่อย่างไฟไหม้ได้

ภาพ: อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวที่กินกำลังไฟสูง ควรใช้ปลั๊กเต้ารับแบบติดผนัง จะปลอดภัยกว่าปลั๊กต่อแบบสายพ่วง
ภาพ: อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวที่กินกำลังไฟสูง ควรใช้ปลั๊กเต้ารับแบบติดผนัง จะปลอดภัยกว่าปลั๊กต่อแบบสายพ่วง

ความเสี่ยงอันตรายเรื่องไฟชอร์ต ไฟดูด สำหรับครัวต่อเติม

กิจกรรมในครัวมักคลุกคลีกับเรื่องเปียกชื้นจากน้ำ รวมถึงของเหลวที่ใช้ประกอบอาหาร ซึ่งอาจจะหก หยด กระเด็นไปโดนปลั๊กเต้ารับ สวิชต์ไฟ อุปกรณ์ไฟฟ้า จนเกิดอันตรายจากไฟดูดได้ นอกจากนี้หากไม่ได้มีการติดตั้งสายดิน หรือติดตั้งผิดวิธี หรือสายดินชำรุด อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุไฟดูดได้ง่ายเช่นกัน โดยเฉพาะอุปกรณ์ไฟฟ้าในครัวที่มักมีส่วนประกอบของโลหะ และใช้งานในตำแหน่งใกล้กับของเหลว ความชื้น

การวางแผนเรื่องระบบไฟฟ้าสำหรับครัวต่อเติม

ในเมื่อระบบไฟฟ้าเป็นอีกเรื่องที่สำคัญมากในงานต่อเติมครัว เจ้าของบ้านจึงควรวางแผนดูว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าที่จะใช้ในครัวต่อเติมมีอะไรบ้าง ขนาดกำลังไฟฟ้าเท่าไหร่ และแจ้งให้ทีมผู้รับเหมาทราบเพื่อคำนวณปริมาณการใช้ไฟฟ้า ขนาดของสายไฟ รวมถึงการเชื่อมต่อเข้ากับเบรกเกอร์ย่อยและตู้ Consumer Unit ได้เหมาะสม หากกำลังไฟฟ้าทั้งหมดที่ต้องเพิ่มมีปริมาณมากอาจต้องทำเบรกเกอร์ใหม่แยกเฉพาะสำหรับครัวต่อเติมหรือสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าบางชุด และบางครั้งอาจต้องปรับปรุงขนาดเบรกเกอร์ย่อย เปลี่ยน ตู้ Consumer Unit ให้มีขนาดรองรับกำลังไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นได้อย่างเหมาะสม

ภาพ: การปรับปรุงระบบไฟฟ้าให้เหมาะกับการใช้งานสำหรับครัวต่อเติม ด้วยการเปลี่ยนตู้ Consumer Unit
ภาพ: การปรับปรุงระบบไฟฟ้าให้เหมาะกับการใช้งานสำหรับครัวต่อเติม ด้วยการเปลี่ยนตู้ Consumer Unit

นอกจากนี้ เจ้าของบ้านควรกำหนดตำแหน่งจัดวางเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า (อาจหารือตั้งแต่ขั้นตอนออกแบบ) โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่กินไฟฟ้าเยอะ เช่น ตู้เย็น เตาไมโครเวฟ กระติกน้ำร้อน กาต้มน้ำไฟฟ้า เตาอบ เพื่อให้ผู้รับเหมาทำการติดตั้งปลั๊กเต้ารับบนผนังให้ใช้งานได้สะดวก เพียงพอ และปลอดภัย โดยอาจเลือกปลั๊กที่มีฝาครอบกันน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงในการสัมผัสความชื้น นอกจากนี้ อาจต้องทำการเดินสายทิ้งไว้เพื่อการติดตั้งแบบต่อสายตรงสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าบางอย่าง เช่น เตาไฟฟ้า เครื่องดูดควัน เตาอบแบบ Built-in เครื่องปรับอากาศ

ภาพ: ตัวอย่างสวิตช์ไฟ และเต้าเสียบปลั๊กไฟที่มีฝาครอบ เหมาะสำหรับตำแหน่งที่อยู่ใกล้อ่างล้านจานในครัว
ภาพ: ตัวอย่างสวิตช์ไฟ และเต้าเสียบปลั๊กไฟที่มีฝาครอบ เหมาะสำหรับตำแหน่งที่อยู่ใกล้อ่างล้านจานในครัว
ภาพ: การติดตั้งเตาอบในครัว แบบ Built-in ซึ่งต้อองมีการกำหนดตำแหน่งและทิ้งสายไฟไว้สำหรับให้ทีมช่างนำอุปกรณ์ไฟฟ้ามาติดตั้งในภายหลัง
ภาพ: การติดตั้งเตาอบในครัว แบบ Built-in ซึ่งต้อองมีการกำหนดตำแหน่งและทิ้งสายไฟไว้สำหรับให้ทีมช่างนำอุปกรณ์ไฟฟ้ามาติดตั้งในภายหลัง

ในเรื่องของสายดิน บ้านโดยทั่วไปมักติดตั้งสายดินไว้อยู่แล้ว และเจ้าของบ้านก็มักเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีปลั๊กเต้าเสียบสายดิน (ปลั๊กแบบ 3 ขา) อย่างไรก็ตามหากตำแหน่งสายดินอยู่ใกล้ครัวต่อเติม เมื่อเกิดการทรุดอาจดึงรั้งโดนชุดสายดินจนเสียหายชำรุด ทำให้การใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านอันตรายมากขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์ไฟฟ้าในครัวที่เรามักต้องสัมผัสบ่อยๆ ดังนั้นหากเจ้าของบ้านต่อเติมครัวโดยไม่ลงเสาเข็มให้ยาวลึกลงไปถึงชั้นดินแข็ง เมื่อถึงเวลาต้องปรับปรุงแก้ไขเรื่องครัวต่อเติมทรุด ควรมีการตรวจชุดสอบสายดินด้วยว่ายังเป็นปกติดีหรือไม่

ภาพ: ปลั๊กเต้ารับและปลั๊กเต้าเสียบ ที่รองรับสายดิน
ภาพ: ปลั๊กเต้ารับและปลั๊กเต้าเสียบ ที่รองรับสายดิน
ภาพ: ช่างผู้ชำนาญทำการปรับปรุงชุดสายดินใหม่ (จากของเดิมที่ตรวจสอบแล้วพบว่าติดไว้ผิดวิธี) เพื่อให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัย
ภาพ: ช่างผู้ชำนาญทำการปรับปรุงชุดสายดินใหม่ (จากของเดิมที่ตรวจสอบแล้วพบว่าติดไว้ผิดวิธี) เพื่อให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัย

ทางที่ดี ในการต่อเติมครัวแต่ละครั้ง เจ้าของบ้านควรหารือกับผู้รับเหมาเรื่องระบบไฟฟ้าอย่างรอบคอบ หากไม่มั่นใจอาจผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบก่อนตั้งแต่ขั้นตอนวางแผนต่อเติม รวมถึงกรณีที่ต่อเติมครัวไปแล้วและพบความผิดปกติในการใช้ไฟฟ้าหรือครัวต่อเติมเกิดการทรุดตัว ก็ควรให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบด้วยเช่นกันเพื่อความราบรื่นและปลอดภัยในการใช้ไฟฟ้าของสมาชิกในบ้าน

โพสต์นี้มีความคิดเห็นเดียว

  1. ต่อเติมครัวใหม่ ไฟฟ้าพร้อมใช้หรือไม่ ? ต่อเติมครัวใหม่ ไฟฟ้าพร้อมใช้หรือไม่ ? เล่าหลักการเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าสำหรับงานต่อเติมครัว แบบปลอดภัยและลงตัวกับการใช้งาน โดยเฉพาะครัวต่อเติมซึ่งมีอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้กำลังไฟสูงจำนวนหลายชิ้น เช่น เตาอบ ตู้เย็น เครื่องดูดควัน ฯลฯ

ใส่ความเห็น

×

Cart