ยืนทำงานแก้ออฟฟิศซินโดรมได้ ยืนอย่างไรให้ถูกวิธี

ยืนทำงานแก้ออฟฟิศซินโดรมได้ ยืนอย่างไรให้ถูกวิธี

ยืนทำงานแก้ออฟฟิศซินโดรมได้ ยืนอย่างไรให้ถูกวิธี

ยืนทำงานแก้ออฟฟิศซินโดรมได้ ยืนอย่างไรให้ถูกวิธี อีกหนึ่งตัวช่วยแก้ปัญหาออฟฟิศซินโดรมคือการยืนทำงาน ซึ่งมีข้อดีอีกหลายเรื่องตามมา ที่สำคัญต้องทำให้ถูกวิธี

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขเผยปี พ.ศ.2558 จากผลการสำรวจประชากรในประเทศไทย พบผู้ที่มีภาวะเสี่ยงต่ออาการออฟฟิศซินโดรม 60% และมีแนวโน้มของการเพิ่มของผู้ป่วยด้วยอาการนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศ ที่มักจะเจอปัญหาปวดหลัง คอ บ่า ไหล่อยู่เสมอ สาเหตุหลักมาจากการนั่งทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยท่าทางซ้ำ ๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน “การยืนทำงาน” เป็นอีกแนวทางที่ช่วยลดปัญหาออฟฟิศซินโดรมได้ แล้วการยืนทำงานมีข้อดีอะไรอีกบ้าง? วิธีการยืนทำงานที่ถูกต้องควรทำอย่างไร? และมีข้อคำนึงในเรื่องใด? SCGHOME.COM จะมาเล่าให้ฟัง

ยืนทำงานแก้ออฟฟิศซินโดรมได้ ยืนอย่างไรให้ถูกวิธี 2
ภาพ: การยืนทำงานด้วยโต๊ะปรับระดับ

4 ข้อดีของการยืนทำงาน

1.ช่วยเผาผลาญแคลอรี่ได้ดีกว่าการนั่งทำงาน

การยืนทำงานจะช่วยเผาผลาญแคลอรี่ได้ถึง 100-200 แคลอรี่/ชั่วโมง ในขณะที่การนั่งทำงานจะสามารถเผาผลาญแคลอรี่ได้ 60-130 แคลอรี่/ชั่วโมง โดยขึ้นอยู่กับเพศ อายุ ส่วนสูง และน้ำหนักส่วนบุคคลด้วย ซึ่งเมื่อเทียบดูแล้วอาจจะเป็นจำนวนแคลอรี่ที่ไม่ได้ต่างกันมากนัก แต่ช่วงที่ยืนทำงานสามารถเพิ่มกิจกรรมขยับร่างกายเล็กน้อย เช่น เดิน สควอทเบา ๆ หรือกระโดดตบ ประมาณ 10-15 นาที เพื่อเร่งอัตราการเต้นของหัวใจให้เผาผลาญได้ดียิ่งขึ้น วิธีนี้ใช้เป็นแนวทางในการพักจากการนั่งทำงานนาน ๆ เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายได้ขยับเคลื่อนไหวบ้างเท่านั้น ไม่ควรใช้วิธีการยืนทำงานในการช่วยลดน้ำหนัก เพราะหากยืนนานเกินไปส่งผลเสียได้เช่นกัน

ยืนทำงานแก้ออฟฟิศซินโดรมได้ ยืนอย่างไรให้ถูกวิธี 3
ภาพ: ยืนทำงานพร้อมกับขยับเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อช่วยการเผาผลาญให้ดียิ่งขึ้น

2.ช่วยให้อารมณ์ดีและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น

การนั่งทำงานนาน ๆ ทำให้ร่างกายไม่ได้ขยับเคลื่อนไหว ส่งผลให้กล้ามเนื้อตึง เกร็ง เลือดไหลเวียนได้ไม่ดี และยังส่งผลโดยตรงต่อการทำงานของสมอง โดยสมองจะทำงานช้าลงเมื่อร่างกายอยู่นิ่งนานเกินไป เนื่องจากได้รับเลือดและออกซิเจนลดน้อยลง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการกระตุ้นการปลดปล่อยสารเคมีในสมองและทำให้อารมณ์ดีขึ้น เมื่ออารมณ์ไม่ดีก็ส่งผลต่อการทำงานได้เช่นกัน ดังนั้น การยืนทำงานสลับกับการนั่งทำงานจะช่วยปรับเปลี่ยนบรรยากาศในการทำงานได้ เมื่ออารมณ์ดีก็จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของงานได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งการสำรวจเกี่ยวกับการยืนทำงาน จากประเทศสหราชอาณาจักร (United Kingdom) พบว่า 66% ของพนักงานรู้สึกเกิดความกระตือรือร้น มีพลังในการทำงาน และงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอีกด้วย

ยืนทำงานแก้ออฟฟิศซินโดรมได้ ยืนอย่างไรให้ถูกวิธี 4
ภาพ: การยืนช่วยเปลี่ยนบรรยากาศในการทำงาน ร่างกายยืดหยุ่น ช่วยให้อารมณ์และประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น

3.ช่วยลดอาการปวดหลังได้

จากผลการสำรวจโดย CDC (Center for Disease Control Prevention) พบว่า 54% ของผู้เข้าร่วมวิจัยสามารถลดอาการปวดหลังและคอได้ เพียงแค่ลดเวลาการนั่งลง 66 นาทีต่อวัน ทั้งนี้ อาการปวดหลังไม่ได้มาจากการนั่งทำงานเพียงอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เช่น การเลือกใช้เก้าอี้ที่ไม่ซัพพอร์ตท่านั่งทำงาน การนั่งทำงานผิดวิธี รวมถึงการยืนนานเกินไปก็สามารถทำให้ปวดหลังได้เช่นกัน เพราะกล้ามตึงเกร็งเกินไป ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดที่จะช่วยลดอาการปวดหลังได้คือการนั่งทำงานสลับกับการยืนทำงาน เพื่อให้ร่างกายได้เคลื่อนไหวมากที่สุดนั่นเอง

ยืนทำงานแก้ออฟฟิศซินโดรมได้ ยืนอย่างไรให้ถูกวิธี 5
ภาพ: อาการปวดหลังขณะนั่งทำงานนานเกินไป ส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว

4.ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น

การนั่งทำงานนาน ๆ แน่นอนว่าร่างกายไม่ได้เคลื่อนไหวเลย ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนขาได้ช้า ทำให้บางครั้งเกิดอาการขาชา เหน็บกินได้ ดังนั้น แน่นอนว่าการที่เราขยับร่างกายไม่ว่าจะการยืน หรือลุกเดินไปชงกาแฟดื่มบ้างในระหว่างการทำงาน จะช่วยให้เลือดในร่างกายไหลเวียนได้ดีกว่าการนั่งนาน ๆ

จะเห็นได้ว่าข้อดีของการยืนทำงานส่งผลให้สุขภาพร่างกายและประสิทธิภาพของงานดีขึ้น ดังนั้นในวันที่แย่หรือรู้สึกไม่มีแรงในการทำงาน ให้ลองลุกขึ้นยืนดูบ้าง อาจจะช่วยคุณได้ไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม ในการยืนทำงานควรจะทำให้ถูกวิธี และยังมีข้อคำนึงที่พึงระวังด้วย…

Tips การยืนทำงานด้วยที่ถูกวิธี ควรทำอย่างไร ?

1. ปรับระดับโต๊ะทำงานให้เหมาะสมกับส่วนสูงของร่างกายในขณะที่ยืน (อาจเปลี่ยนมาใช้โต๊ะปรับระดับได้เพื่อให้ง่ายต่อการเปลี่ยนท่าทำงาน) สายตาต้องอยู่ห่างจากจอคอมฯ ประมาณ 20 นิ้ว หรือ 50-60 ซม. และหน้าจอเอียงประมาณ 20 องศา

2. ข้อศอกควรอยู่ในมุม 90 -100 องศา ไหล่ไม่ควรตกและห่อ สามารถงอแขนเพื่อพิมพ์งานได้สบาย

3. การวางมือบนบนแป้นพิมพ์ควรอยู่ราบกับโต๊ะทำงาน ข้อมือไม่กระดกขึ้น-ลง จะช่วยให้คุณพิมพ์งานได้ไวยิ่งขึ้น

ยืนทำงานแก้ออฟฟิศซินโดรมได้ ยืนอย่างไรให้ถูกวิธี 6
ภาพ: การนั่งหรือยืนทำงานควรปรับระดับโต๊ะและท่านั่งที่เหมาะสมตามคำแนะนำ
ยืนทำงานแก้ออฟฟิศซินโดรมได้ ยืนอย่างไรให้ถูกวิธี 7
ภาพ: ตัวอย่างโต๊ะทำงานที่สามารถปรับระดับได้

4. ควรสลับการนั่งทำงานและยืนทำงาน เปลี่ยนอิริยะบทจากการนั่งทำงานเป็นท่าอื่นทุก ๆ 1-2 ชม. โดยใช้เวลา 2-3 นาที หรือหากต้องการพักจากการทำงานมากกว่านั้น ก็สามารถเพิ่มเวลาในการยืน เดิน หรือเคลื่อนไหวร่างกายให้รู้สึกผ่อนคลายมากยิ่งขึ้นได้

5. ไม่ควรยืนทำงานนิ่งท่าเดียวนาน ๆ และควรยืนลงน้ำหนักทั้งสองข้างให้เท่ากัน หากต้องการพักเท้าข้างใดข้างหนึ่งในการยืนทำงาน ควรหาอุปกรณ์เสริมวางเท้าจะทำให้การยืนทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ยืนทำงานแก้ออฟฟิศซินโดรมได้ ยืนอย่างไรให้ถูกวิธี 8
ภาพ: วางน้ำหนักเท้าทั้งสองข้างให้เท่ากันและใช้อุปกรณ์เสริมในการวางเพื่อพักเท้า

6. หากต้องใส่รองเท้า ควรสวมใส่รองเท้าให้เหมาะกับธรรมชาติของเท้า ไม่รัดแน่นจนเกินไปหรือใส่ส้นสูง เพราะอาจจะทำให้การยืนทำงานเมื่อยกว่าเดิม และหากพื้นรองเท้าลื่นเกินไปอาจจะทำให้เกิดความไม่มั่นคงและบาดเจ็บขณะยืนได้

7. ควรเลือกยืนทำงานสำหรับงานที่ไม่ต้องใช้เวลามากนัก เช่น การตอบอีเมลลูกค้า การโทรศัพท์

ยืนทำงานแก้ออฟฟิศซินโดรมได้ ยืนอย่างไรให้ถูกวิธี 1
ภาพ: ใช้การยืนทำงานในเวลาสั้น ๆ เช่น ตอบอีเมลลูกค้า

ข้อคำนึงที่พึงระวังในการยืนทำงาน

การยืนทำงานเป็นเวลานานเกินไป ก่อให้เกิดอาการปวดเท้า เท้าบวม เส้นเลือดขอด หรือปวดหลังช่วงล่างได้เช่นกัน ดังนั้นควรนั่งและยืนสลับกันเป็นระยะ ๆ จะช่วยให้ร่างกายยืดหยุ่นและส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าทำอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นเวลานาน

ยืนทำงานแก้ออฟฟิศซินโดรมได้ ยืนอย่างไรให้ถูกวิธี 10
ภาพ: สลับการนั่งและยืนทำงานด้วยโต๊ะปรับระดับ ขอบคุณภาพโต๊ะปรับระดับเพื่อสุขภาพ (Ergonomic Adjustable Desk) จาก Bewell

สรุปได้ว่า การยืนทำงานมีข้อดีอีกไม่น้อยที่มากกว่าการช่วยแก้ปัญหาออฟฟิศซินโดรม สิ่งสำคัญคือต้องทำให้ถูกวิธี ซึ่งอาจต้องใช้ตัวช่วยอย่าง โต๊ะทำงานปรับระดับได้หรือโต๊ะปรับระดับไฟฟ้า เพื่ออำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนท่าการทำงานให้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ การยืนทำงานก็มีข้อคำนึงที่พึงระวังดังที่กล่าวมาด้วยเช่นกัน ดังนั้น ไม่ว่าจะนั่งทำงานหรือยืนทำงานควรอยู่ในท่าที่ถูกต้องและหมั่นสลับท่าทำงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญของเราทุกคน

โพสต์นี้มีความคิดเห็นเดียว

  1. ยืนทำงานแก้ออฟฟิศซินโดรมได้ ยืนอย่างไรให้ถูกวิธี อีกหนึ่งตัวช่วยแก้ปัญหาออฟฟิศซินโดรมคือการยืนทำงาน ซึ่งมีข้อดีอีกหลายเรื่องตามมา ที่สำคัญต้องทำให้ถูกวิธี

ใส่ความเห็น

×

Cart