รีโนเวทบ้านเก่า ให้เข้ากับยุคสมัยใหม่

รีโนเวทบ้านเก่า ให้เข้ากับยุคสมัยใหม่

รีโนเวทบ้านเก่า ให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ อีกหนึ่งไอเดียการรีโนเวทบ้าน จากบ้านจัดสรรสไตล์ Classic กึ่ง Contemporary (ดูแลรักษา) ให้กลายเป็นบ้านสไตล์โมเดิร์นที่นอกจากจะสวยงามแล้ว ยังมีการจัดสรรพื้นที่ใหม่พร้อมต่อเติมบ้านบางส่วน ให้ตอบโจทย์การใช้งานของสมาชิกในบ้านทุกๆ คนได้อย่างเต็มที่

รีโนเวทบ้านเก่า ให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ 1

คุณเกด-เจษฎ์สุภา พิพัฒนสุภรณ์ และคุณจี๊ป-ปริญญา ณรงค์ธนรัฐ คู่นักออกแบบผู้ได้รับของขวัญจากครอบครัวเป็น ‘บ้าน’ อายุเกือบ 20 ปี พวกเขาเลือกที่จะ “ปรับปรุง” มันขึ้นมาใหม่ โดยนำความต้องการของเขาทั้งคู่และคนในครอบครัวมาผสมผสานกันอย่างกลมกลืน เกิดเป็นความสุขใหม่ในบ้านหลังเดิม

คุณเกดและคุณจี๊ป
คุณเกดและคุณจี๊ป

ที่มาและแนวคิด
จากการที่ทั้งสองคนทำงานอยู่ในต่างประเทศมาตลอด เมื่อมีแผนจะแต่งงานและกลับมาอาศัยอยู่ในประเทศไทย จึงนึกถึงบ้านหลังนี้ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณยายมอบให้คุณแม่และตกทอดมาจนถึงเขาทั้งคู่ “แต่ก่อนแถวนี้ยังไม่ค่อยเจริญ บ้านหลังนี้เลยไม่มีใครอยู่ แต่พอเรากลับมาก็เห็นว่าย่านนี้เจริญขึ้นมาก อีกทั้งยังใกล้กับสถานีรถไฟใต้ดินสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค) ซึ่งน่าจะอยู่ได้สะดวกสบายมากขึ้น  เลยตัดสินใจช่วยกันออกแบบและปรับปรุงบ้าน ซึ่งตอนแรกที่เข้ามาเห็นบ้านก็รู้สึกอึดอัด เพราะเนื่องจากการวางผัง (Planning) ที่มีการกั้นเป็นห้องเล็กๆ หน้าต่างบานเล็กๆ ดูทึบ มืด และ ไม่ค่อยมีอากาศถ่ายเท เลยคิดว่าจะทำยังไงให้บ้านดูอยู่สบายที่สุด และประหยัดพลังงานด้วย” คุณเกด ย้อนถึงภาพแรกที่ทำให้ทั้งคู่ตัดสินใจปรับปรุงบ้าน

มุมต่างๆ ของบ้านก่อนปรับปรุง
มุมต่างๆ ของบ้านก่อนปรับปรุง

 

เมื่อมองจากภายนอก บ้านหลังนี้ดูแตกต่างจากบ้านโดยรอบอย่างสิ้นเชิง ทั้งที่ความเป็นจริงโครงสร้างหลักของบ้านแทบจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย “เราเริ่มจากการดูทิศทางก่อน บ้านหลังนี้หันหน้าไปทางทิศใต้ กำแพงฝั่งนี้ก็จะรับความร้อนไว้ตลอดเวลา ก็เลยคิดว่าจะต้องทำกำแพงด้านนี้เป็นผนังสองชั้น (Double Skin) ซึ่งนอกจากจะช่วยรับความร้อนไว้ก่อนจะถึงตัวบ้านแล้ว ยังเพิ่มความเป็นส่วนตัวและความเป็นสัดส่วนให้แก่ผู้อยู่อาศัยมากขึ้น” ส่วนการวางผังตัวบ้าน คุณจี๊ป ซึ่งเป็นสถาปนิกและภูมิสถาปนิกอธิบายว่า มีการแบ่งพื้นที่บ้านออกเป็น 5 แถบจากทางทิศตะวันออกไปยังตะวันตก นั่นคือ 1) สวนรอบบ้าน  2) พื้นที่นั่งเล่นพักผ่อน  3) พื้นที่อเนกประสงค์  4) พื้นที่นั่งทำงาน และ  5) ส่วนซักล้าง โดยทั้ง 5 ส่วนนี้ มีการคำนึงถึงทิศทางของแดดประกอบพฤติกรรมการใช้สอยของคนในบ้าน ตัวอย่างเช่น ตอนเช้าแดดจะมาทางสวนซึ่งอยู่คนละฝั่งกับพื้นที่นั่งทำงาน พวกเราจึงนั่งทำงานกันได้โดยไม่โดนแดดรบกวนและมีหน้าต่างอยู่ใกล้ๆ ให้เปิดรับลมได้ พอตกช่วงบ่ายแดดจะส่องตรงพื้นที่ทำงานแทน เราก็จะย้ายมานั่งตรงพื้นที่นั่งเล่นพักผ่อน ซึ่งไม่โดนแดดและยังเปิดหน้าต่างรับลมจากสวนได้ด้วย เป็นต้น

รีโนเวทบ้านเก่า ให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ 2
มุมหนึ่งของชั้นล่าง กับพื้นที่โล่งซึ่งอยู่ระหว่างพื้นที่นั่งเล่น (ซ้าย) และพื้นที่ทำงาน (ขวา)
รีโนเวทบ้านเก่า ให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ 3
พื้นที่ทำงานกับหน้าต่างบานใหญ่ที่เป็นช่องทางรับลมและแสงธรรมชาติ
รีโนเวทบ้านเก่า ให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ 4
หน้าต่างกระจกขนาดใหญ่ที่เชื่อมสวนภายนอกเข้ากับพื้นที่นั่งเล่นในบ้าน

 

ส่วนการออกแบบตกแต่งภายใน คุณเกด ในฐานะสถาปนิกภายในบอกว่า โปร่งโล่ง อยู่สบาย คือสิ่งแรกที่ทั้งคู่ต้องการ “บ้านนี้อยู่กันหลายคนในบางโอกาส ซึ่งเป็นโจทย์ที่ว่าบ้านนี้ต้องการพื้นที่เก็บของที่ใหญ่เพียงพอกับทุกความต้องการ แต่จะทำยังไงให้โปร่ง โล่ง และที่สำคัญคือไม่รก เลยใช้ไอเดีย “Concealed Storage” โดยให้ของใช้ทุกอย่างถูกเก็บอยู่ในพื้นที่ตรงกลางบ้าน  โดยซ่อนอยู่ในผนังสีขาวซึ่งแขกที่มาเยี่ยมอาจจะดูไม่ออกว่าเป็นตู้เก็บของ สำหรับโทนสีโดยรวมจะใช้สีขาวเป็นหลัก เพื่อเป็นการกระจายแสงให้ทั่วถึงและมีการใช้สีโทนกลางอย่างสีเทา รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์เรียบๆ ทันสมัย แต่ก็ยังดูอบอุ่นในความเป็นบ้านด้วย การสร้างบรรยากาศโดยรวมที่ต้องการให้เกิดความกลมกลืนของทั้ง ภูมิสถาปัตย์ (Landscape Architecture) –สถาปัตยกรรม (Architecture)  – สถาปัตยกรรมภายใน (Interior Architecture) โดยนอกจากการวางผังแล้ว การวางตำแหน่งของเฟอร์นิเจอร์แต่ละตัวยังมีการคำนึงถึงการได้รับมุมมองของสวนจากทุกที่ที่นั่งเช่นกัน

รีโนเวทบ้านเก่า ให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ 5
(ซ้าย) ผนังเรียบสีขาวซ่อนช่องเก็บของ ตามไอเดีย “Concealed Storage” ซึ่งต่อเนื่องกับ (ขวา) ประตูที่เชื่อมไปยังบริเวณห้องน้ำและส่วน Service

 

รีโนเวทบ้านเก่า ให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ 6
เฟอร์นิเจอร์เน้นสีโทนกลาง ขาว เทา ดำ กับมุมต่างๆ ในบ้านที่โปร่งโล่งปรับ-ประยุกต์ เพิ่มคุณค่า

 

ภายใต้โครงสร้างเดิม มีการปรับเปลี่ยนและต่อเติมพื้นที่บางส่วนให้กับตัวบ้านชั้นล่าง ส่วนชั้นบนมีเพียงการปรับประยุกต์เพื่อเพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานให้ตอบโจทย์ความต้องการของคนในครอบครัวได้มากขึ้น “พื้นที่ชั้นล่าง ในตอนแรกจะมีมุมและผนังกั้นห้องเยอะมาก เราจึงพยายามจัดสรรพื้นที่และการใช้งาน โดยใช้ “พื้นที่แบบเปิดโล่ง” (Open Plan Concept) มาเป็นส่วนหนึ่งในแนวความคิด  ด้วยการขยายผนังตัวบ้านออกไป ทำให้ได้พื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้นในส่วนของชั้นหนังสือและตู้เก็บของยาวเต็มผนังด้านหลังของกำแพงไม้ 2 ชั้น ส่วนผนังฝั่งติดสวนได้ทำเป็นประตูกระจก บานกรอบอะลูมิเนียมสูงชนฝ้ายาวตลอดแนว เพื่อเปิดรับลมและดูโปร่ง เช่นเดียวกับหลังคากันสาดที่เปลี่ยนจากกระเบื้องลอนคู่เป็นโพลีคาร์บอเนต เพื่อให้แสงเข้ามาเยอะที่สุด ส่วนตัวบ้านด้านหลังก็มีการต่อเติมออกไปเป็นส่วนห้องซักล้าง โดยแยกโครงสร้างและลงเสาเข็มเพิ่ม”

รีโนเวทบ้านเก่า ให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ 7
ส่วนต่อเติมเพิ่มพื้นที่ใช้สอยในส่วนของชั้นหนังสือและตู้เก็บของยาวเต็มผนัง

 

“ชั้นบน เดิมมี 4 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ แต่บางโอกาสใช้งานจริงๆ แค่ 3 ห้องนอน เลยตัดสินใจเอาห้องนอนออกหนึ่งห้อง แล้วขยายห้องน้ำให้ใหญ่สำหรับวางอ่างอาบน้ำ เพื่อให้คุณยายที่มาเยี่ยมบ่อยๆ จะได้แช่น้ำบำบัดหัวเข่า นอกจากนี้ ห้องน้ำเดิมอีกหนึ่งห้องที่อยู่ระหว่างห้องนอนที่ 2 และห้องนอนที่ 3 ก็ปรับมาเป็นตู้เสื้อผ้าแบบอเนกประสงค์  (Walk-in Closet) ที่สามารถเดินเข้าได้จากทั้งสองห้องนอน โดยมีประตูเลื่อนปิดเมื่อต้องการความเป็นส่วนตัว ซึ่งทำให้ห้องนอนทั้งสองห้องสามารถใช้งานได้หลากหลายมากขึ้น ไอเดียนี้เกิดจากตอนที่ช่างรื้อฝ้าออกแล้วเราได้เห็นพื้นที่โล่งที่เชื่อมต่อกัน พอทำออกมาก็เป็นที่พึงพอใจของทุกคน”

รีโนเวทบ้านเก่า ให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ 8
สละพื้นที่ห้องนอนเพื่อขยายห้องน้ำให้ใหญ่สำหรับวางอ่างอาบน้ำ
รีโนเวทบ้านเก่า ให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ 9
ห้องนอนเชื่อมต่อกับ Walk-in Closet ซึ่งในอดีตเคยเป็นพื้นที่ห้องน้ำ

 

ยิ้มสู้ปัญหา
แม้ทั้งสองคนจะเป็นนักออกแบบมืออาชีพ และลงมือเขียนแบบการปรับปรุงบ้านหลังนี้ด้วยตัวเอง แต่ทั้งคู่ก็ยังพบเจอปัญหาและอุปสรรคเช่นเดียวกัน “ความยากที่สุดน่าจะเป็นเรื่องที่เราไม่มีประสบการณ์ทำงานในเมืองไทยมากนัก ระหว่างการก่อสร้างเราได้เรียนรู้ว่าเทคนิคในการติดตั้งของวัสดุในประเทศไทยแตกต่างจากในต่างประเทศมาก หรืออาจเป็นเพราะเราใช้บริษัทขนาดเล็ก ประกอบด้วยวิธีประสานงานก็ต่างกันไป หรืออย่างระบบการทำงานของเขาก็ทำให้เรางงเหมือนกัน ยกตัวอย่าง พื้นทรายล้างด้านนอก จริงๆ ควรทำหลังสุด แต่เขากลับทำก่อน สุดท้ายพื้นเลยออกมาเลอะเทอะหมด มารู้ตอนหลังว่า กระบวนการทำงานเป็นไปตามคิวว่างของช่างเป็นหลัก ซึ่งตรงข้ามกับที่พวกเราคิดไว้ว่าควรดูจากความเหมาะสมของขั้นตอนการทำงานมากกว่า”

แต่ถึงจะมีปัญหา คุณเกดก็ยังบอกว่าประสบการณ์ปรับปรุงบ้านครั้งนี้ทำให้ทั้งคู่เรียนรู้มากขึ้น “หลายอย่างที่เราคุยกับช่างแล้วรู้ว่าอะไรที่เขาทำได้ อะไรทำไม่ได้ มันก็เลยมีการพัฒนาแบบและปรับให้ง่ายขึ้น อย่างกำแพงด้านนอก ตอนแรกจะทำเป็น Gabion Wall ที่เป็นลูกกรงเหล็กแล้วใส่หินเข้าไปข้างใน แต่เขาทำไม่ได้ ก็เลยปรับมาใช้ไม้แทน แล้วเราก็ต้องมาสอนเขาว่าทำยังไง เรียงยังไง แต่ก็ยังไม่ถูกใจ เราอยากกำหนดเองว่าตรงนี้ต้องไม้ชิ้นเล็ก ตรงนี้ต้องชิ้นใหญ่ ซึ่งเขาก็ไม่เข้าใจว่ามันแตกต่างกันยังไง สุดท้ายเราเลยเรียงเอง ชวนเพื่อนชวนคนที่มีหัวศิลปะมาช่วยกันเรียง สนุกดี (ยิ้ม)”

รีโนเวทบ้านเก่า ให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ 10
อีกมุมของพื้นที่นั่งเล่นในสวน มี Background เป็นผนัง Design สวยงามที่เกิดจากการเรียงชิ้นไม้

 

รีโนเวทบ้านเก่า ให้เข้ากับยุคสมัยใหม่ 11
เลือกใช้หญ้าเทียมในสวน ตอบโจทย์ความสะดวกในการดูแลรักษา

 

ท้ายสุดทั้งคู่ฝากถึงเจ้าของบ้านที่กำลังคิดจะปรับปรุงบ้านเก่า แต่ยังกล้าๆ กลัวๆ ที่จะลงมือ ว่า “บ้านหลังเก่า เราจะได้กลิ่นอายบรรยากาศเดิมๆ ความทรงจำเดิมๆ บางคนติดที่อยู่ ติดทำเลเดิม เพราะรู้สึกสะดวกสบาย และที่สำคัญคือที่ดินสมัยนี้ราคาสูงขึ้นมาก เมื่อเทียบกับงบประมาณที่เราจะนำมาปรับปรุง หรือถ้าเราจะไปซื้อบ้านใหม่ที่เป็นบ้านโครงการ ก็อาจจะได้บ้านหลังค่อนข้างเล็กที่ไม่ได้มีฟังก์ชั่นตอบโจทย์ของตัวเราอย่างที่เราทำเองแน่นอน อย่ากลัวที่จะลงมือทำ แต่ถ้าทำในส่วนที่ต้องเกี่ยวพันกับงานโครงสร้างหลัก ควรมีสถาปนิกและวิศวกรช่วยดูแล เพื่อให้ได้บ้านที่ถูกใจเหมาะสมกับการใช้งาน และที่สำคัญคือ ปลอดภัย”


ขอขอบคุณที่มาบทความ
www.scgbuildingmaterials.com

ใส่ความเห็น

×

Cart