รู้ทันปัญหาหลังคารั่วซึม ตอนที่ 2 : จุดเสี่ยงหลังคารั่วบนผืนหลังคา

รู้ทันปัญหาหลังคารั่วซึม

รู้ทันปัญหาหลังคารั่วซึม ตอนที่ 2 : จุดเสี่ยงหลังคารั่วบนผืนหลังคา

รู้ถึงสาเหตุและจุดเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาหลังคารั่วซึมบนผืนหลังคา โดยปัจจัยหลักมักมาจากโครงสร้างและกระเบื้องหลังคา ซึ่งเจ้าของบ้านควรทำความเข้าใจเพื่อทำการแก้ไข หรือป้องกันตั้งแต่เริ่มต้น

จากตอนที่แล้ว [(รู้ทันปัญหาหลังคารั่วซึม ตอนที่ 1 : จุดเสี่ยงหลังคารั่วตามรอยต่อ)] เจ้าของบ้านคงพอเข้าใจถึงจุดเสี่ยงการเกิดปัญหารั่วซึมจากบริเวณรอยต่อหลังคาบ้านกันไปพอสมควร สำหรับตอนนี้จะขอเล่าถึงจุดเสี่ยงการเกิดรอยรั่วบนผืนหลังคา ซึ่งเกิดได้จาก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ปัจจัยจากโครงสร้างหลังคา และปัจจัยจากกระเบื้องหลังคา (ดูแลรักษา)

จุดเสี่ยงหลังคารั่วบนผืนหลังคา 1: ปัญหาโครงสร้างหลังคา

โครงสร้างหลังคาที่ไม่แข็งแรง อาจเกิดการแอ่นหรือขยับตัวจนทำให้กระเบื้องหลังคาเผยอ ซึ่งนอกจากจะเกิดปัญหาหลังคารั่วน่ากวนใจแล้ว ยังอาจเกิดอันตรายถึงขั้นหลังคาถล่มได้ ดังนั้น โครงสร้างหลังคาจึงควรได้รับการออกแบบคำนวณโดยผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงเลือกวัสดุอุปกรณ์และบริการติดตั้งที่ได้มาตรฐาน อย่างโครงหลังคาเหล็กควรใช้เหล็กที่มีคุณภาพ ไม่เป็นสนิม เชื่อมรอยต่อแข็งแรงแน่นหนา โดยเฉพาะแปกับจันทันที่มีการ “เชื่อมแต้ม” ชั่วคราวเผื่อเคลื่อนย้ายขณะจัดวางนั้น เมื่อได้ตำแหน่งแน่นอนแล้วจะต้องกลับมาทำการ “เชื่อมเต็ม” (เชื่อมให้เต็มหน้าตัด) ซ้ำให้เรียบร้อยทุกจุด

รู้ทันปัญหาหลังคารั่วซึม ตอนที่ 2 : จุดเสี่ยงหลังคารั่วบนผืนหลังคา 1
ภาพ: โครงสร้างหลังคาแอ่นซึ่งควรรีบแก้ไข เพราะนอกจากกระเบื้องจะเผยอจนน้ำรั่วแล้ว หลังคาอาจถล่มพังลงมาได้

ทั้งนี้เพื่อความสะดวกและมั่นใจ เจ้าของบ้านอาจเลือกใช้โครงหลังคาสำเร็จรูปในลักษณะโครงถัก หรือที่เรียกว่า “โครง Truss” ซึ่งมีน้ำหนักเบา ตัววัสดุเคลือบสารป้องกันสนิม (เคลือบกัลวาไนซ์ หรืออะลูมิเนียมซิงค์ / แมกนีเซียมซิงค์) ชิ้นส่วนต่างๆ จะประกอบได้มาตรฐานจากโรงงานก่อนนำมาติดตั้งที่หน้างาน ทั้งยังช่วยลดระยะเวลาการตากแดดตากฝนของชิ้นส่วนโครงสร้างในขณะดำเนินงานก่อสร้างด้วย

รู้ทันปัญหาหลังคารั่วซึม ตอนที่ 2 : จุดเสี่ยงหลังคารั่วบนผืนหลังคา 2
ภาพ: ชุดโครงหลังคาสำเร็จรูป เอสซีจี พร้อมบริการติดตั้ง

นอกจากความแข็งแรงของโครงสร้างหลังคาแล้ว ยังต้องคำนึงเรื่องระยะวางแปหลังคาที่เหมาะสม เพื่อให้กระเบื้องซ้อนทับได้พอดี ไม่เกิดช่องให้น้ำไหลเข้าได้ อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ความชันหลังคา โดยกระเบื้องหลังคาแต่ละรุ่นจะมีระดับองศาที่เหมาะสมในการมุงกำหนดไว้ หากโครงหลังคามีองศาไม่เป็นไปตามเกณฑ์ อาจทำให้น้ำไหลย้อนเข้าใต้กระเบื้องได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บางครั้งอาจต้องใช้วิธีปูแผ่นรองกันรั่วใต้หลังคา (Roof Sarking) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงเรื่องรั่วซึม

รู้ทันปัญหาหลังคารั่วซึม ตอนที่ 2 : จุดเสี่ยงหลังคารั่วบนผืนหลังคา 3
ภาพ: แผ่นรองกันรั่วใต้หลังคา SCG Roof Sarking

จุดเสี่ยงหลังคารั่วตามรอยต่อ 2 : ปัญหากระเบื้องหลังคา

กระเบื้องหลังคาเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดการรั่วซึมได้ ไม่ว่าจะเป็นการมุงกระเบื้องที่ผิดวิธี เช่น เรียงกระเบื้องไม่พอดีกัน ระยะซ้อนทับน้อยเกินไป ทั้งนี้ กระเบื้องหลังคาแต่ละรุ่นอาจมีวิธีมุงแตกต่างกันไป เช่น บางรุ่นจะต้องมุงแนวสลับ บางรุ่นใช้วิธีมุงซ้อนแนวตรงกันโดยมีการตัดมุมกระเบื้อง เป็นต้น ซึ่งหากทำไม่ถูกต้องตามคู่มือติดตั้ง อาจเกิดช่องให้น้ำไหลย้อนเข้าใต้กระเบื้องได้

รู้ทันปัญหาหลังคารั่วซึม ตอนที่ 2 : จุดเสี่ยงหลังคารั่วบนผืนหลังคา 4
ภาพ: ตัวอย่างการมุงกระเบื้องแนวสลับ ของกระเบื้องหลังคาคอนกรีต เอสซีจี รุ่นซีแพค

อีกสาเหตุที่ไม่ควรมองข้ามคือ การเจาะยึดอุปกรณ์บนหลังคา (เช่น เสาอากาศ จานรับสัญญาณดาวเทียม แผงโซล่าร์เซลล์ เป็นต้น) หากทำผิดวิธีอาจเกิดรูรั่วที่กระเบื้องหลังคาได้ เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว แนะนำให้เจ้าของบ้านเลือกซื้อชุดอุปกรณ์และบริการติดตั้งที่น่าเชื่อถือ รวมถึงอุปกรณ์หลังคาที่ออกแบบมาสำหรับกระเบื้องเฉพาะรุ่น เช่น ชุดกระเบื้องสำหรับรับจานดาวเทียม เป็นต้น ก็จะช่วยลดปัญหารั่วซึมจากการเจาะกระเบื้องหลังคาได้

รู้ทันปัญหาหลังคารั่วซึม ตอนที่ 2 : จุดเสี่ยงหลังคารั่วบนผืนหลังคา 5
ภาพ: ตัวอย่างกระเบื้องสำหรับติดตั้งจานดาวเทียม สำหรับกระเบื้องหลังคาคอนกรีต เอสซีจี รุ่นซีแพค ทำให้ไม่ต้องเจาะกระเบื้องหลังคา จึงช่วยลดความเสี่ยงเรื่องรั่วซึม

ในบางครั้ง ปัญหาหลังคารั่วอาจเกิดจากอุบัติเหตุขณะมุง เช่น ช่างมุงเผลอเหยียบโดนกระเบื้องหลังคาจนแตกร้าว หรือ เกิดลมพัดแรงจนกระเบื้องหลุดเผยอ สำหรับการป้องกันกรณีลมพัดกระเบื้องนั้น ควรยึดด้วยวัสดุที่มีคุณภาพ ทนทาน ไม่เป็นสนิมง่าย และเหมาะสมสำหรับกระเบื้องหลังคาแต่ละรุ่น ซึ่งอาจแตกต่างกันไป เช่น บางรุ่นใช้ขอยึด บางรุ่นยึดสกรูทุกแถว บางรุ่นยึดสกรูเพียงแถวเว้นแถว เป็นต้น นอกจากนี้กระเบื้องหลังคาบางรุ่น อาจมีวัสดุยึดเพิ่มความแน่นหนา เช่น “ขอยึดกระเบื้อง” สำหรับยึดปลายกระเบื้องแถวบนเข้ากับแถวล่าง หรือ “ขอยึดเชิงชาย” สำหรับยึดกระเบื้องแถวแรกเข้ากับเชิงชายโดยเฉพาะ เป็นต้น

รู้ทันปัญหาหลังคารั่วซึม ตอนที่ 2 : จุดเสี่ยงหลังคารั่วบนผืนหลังคา 6
ภาพ: ตัวอย่างอุปกรณ์ยึดกระเบื้องหลังคาเพิ่มความแน่นหนา

จะเห็นว่า หลังคาบ้านมีจุดเสี่ยงให้เกิดการรั่วซึมได้มากมายทั้งบริเวณรอยต่อและผืนหลังคา การแก้ไขปัญหาหลังคารั่วมักเป็นเรื่องยุ่งยาก เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่อยู่สูง หรือหากถึงขั้นรื้อโครงสร้างหลังคาก็ต้องย้ายที่อยู่อาศัยชั่วคราวด้วย ดังนั้นเจ้าของบ้านควรให้ความใส่ใจเรื่องรูปแบบหลังคา วัสดุอุปกรณ์หลังคาที่เหมาะสม มีคุณภาพ รวมถึงใช้บริการติดตั้งจากทีมช่างผู้ชำนาญและมีมาตรฐานในการทำงาน เพื่อลดความเสี่ยงต่อปัญหาหลังคารั่วในระยะยาวให้ได้มากที่สุด

ขอขอบคุณที่มาของบทความ
www.scghome.com

ใส่ความเห็น

×

Cart