วัสดุโครงสร้างกับงานครัว

วัสดุโครงสร้างกับงานครัว

วัสดุโครงสร้างกับงานครัว

วัสดุโครงสร้างกับงานครัว การเลือกประเภทวัสดุสำหรับงานออกแบบครัวนั้น ต้องเริ่มจากการพิจารณาว่าครัวของเราเป็นครัวประเภทไหน มีวีธีการหุงหาอาหารอย่างไร ซึ่งโดยส่วนมากในประเทศไทย เรามักจะคุ้นหูวิธีการแบ่งลักษณะครัวตามวีธีการปรุงอาหารซึ่งก็คือ ครัวไทยและครัวฝรั่ง หรือในอีกนัยหนึ่งได้แก่ครัวหนักและครัวเบา ความหมายของครัวไทยนั้นจะสื่อไปถึงวิธีการปรุงอาหารที่ค่อนข้างสลับซับซ้อน มีการผัดทอด ใช้น้ำมันเดือด และอาจจะมีกลิ่นควันโขมงโฉงเฉง ขณะที่ส่วนครัวฝรั่งจะปรุงอาหารอย่างมีระเบียบเรียบร้อยกว่า อย่างเช่นพาสต้า สลัด และซุป ซึ่งครัวฝรั่งตามความหมายของเรายังสื่อไปถึงประเภทครัวที่ไม่ต้องใช้งานหนัก หรือที่เรากล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่าเป็นครัวเบา ครัวเบานี้บางคนอาจจะเรียกว่าส่วนเตรียมอาหาร (Pantry) ก็ได้

เรื่อง: ชมพูนุท ชิงนวรรณ์

สำหรับครัวไทยนั้น ทุกคนน่าจะคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว โดยมากก็มักจะใช้วัสดุประเภทก่ออิฐฉาบปูน หรือไม่ก็ใช้เป็นคอนกรีตไปเลยก็มี ในครัวไทยพื้นถิ่นบางที่นั้น ยังมีการก่อโต๊ะเตี้ยๆ สำหรับนั่งปรุงอาหารบนพื้นด้วย ทั้งนี้ก็เพราะความดั้งเดิมของอาหารไทยย่อมหนีไม่พ้นการตำครก ซึ่งการทำงานในระดับเตี้ยๆ จะสะดวกมากกว่า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอิทธิพลของตะวันตก และข้อจำกัดการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนในกรุงเทพมหานคร ทั้งในเรื่องลักษณะพื้นที่ที่อยู่อาศัย เช่น คอนโด ทาวน์เฮาส์ หรือการที่คนนิยมรับประทานอาหารประเภทจานเดียวมากขึ้น ด้วยเหตุนี้บทบาทของงานครัวฝรั่งจึงมีมากขึ้นตามไปด้วย ข้อดีที่สำคัญอันหนึ่งของครัวประเภทนี้ก็คือ มีน้ำหนักเบา ก่อสร้างง่าย และแลดูสวยงามเรียบร้อยกว่า ทั้งนี้ก็เพราะโครงสร้างเฟอร์นิเจอร์ภายในของครัวเบาเป็นโครงเคร่าไม้ ซึ่งนิยมปิดผิวด้วยวัสดุประเภทลามิเนตหรือไม่ก็วีเนียร์ ในขณะที่ส่วนท็อปก็อาจจะเลือกใช้เป็นวัสดุประเภทหินธรรมชาติ หินเทียม ไม้ หรือลามิเนต ขึ้นอยู่กับงบประมาณ(บ้านสร้างใหม่)

สำหรับวัสดุโครงสร้างภายในงานเฟอร์นิเจอร์นั้น เริ่มจากโครงเคร่าไม้ที่ควรจะเป็นไม้เนื้อแข็ง ซอยห่างเป็นตารางเพื่อความความแข็งแรงและปลอดภัย จากนั้นจึงตามด้วยแผ่นวัสดุสำหรับปิดทับโครงเคร่า ในอดีตนั้นมีการใช้แผ่นไม้ยางพาราในการทำโครงสร้างเฟอร์นิเจอร์บิวท์อินด้วย แต่เพราะราคาไม้ที่สูงขึ้นในปัจจุบัน ลูกค้าและผู้รับเหมาส่วนมากจึงเปลี่ยนมาใช้วัสดุโครงประเภทอื่นทดแทน ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกมากมายหลายชนิด อย่างเช่น ไม้อัด พาร์ติเคิลบอร์ด (Particle Board) และ MDF (Medium Density Fiber Board) เป็นต้น หลายคนมักจะสงสัยว่าวัสดุที่กล่าวมานี้แตกต่างกันอย่างไร ทั้งในเรื่องลักษณะเชิงกายภาพ ความทนทาน และราคา ซึ่งต้องพิจารณาเพื่อให้เหมาะสมกับประเภทงาน

 

วัสดุโครงสร้างกับงานครัว 1
MDF (ที่มา : www.fordaq.com)
วัสดุโครงสร้างกับงานครัว 2
บน : สันของ MDF ล่าง : สันของ Particle Board (ที่มา: www.acekitchensandbaths.com)
วัสดุโครงสร้างกับงานครัว 3
ซ้าย : รูปแบบครัวหนัก ขวา : รูปแบบครัวเบา (ที่มา : www.banidea.com)
วัสดุโครงสร้างกับงานครัว 4
บน : ไม้อัด (ที่มา : www.acekitchensandbaths.com) ล่าง : Particle Board (ที่มา: www.alibaba.com)

ไม่ว่าจะเป็นไม้อัด พาร์ติเคิลบอร์ด หรือ MDF ทั้งสามประเภทนี้ต่างก็ผลิตขึ้นมาจากการรวมตัวของไม้ ต่างกันตรงที่ไม้อัดจะเป็นแผ่นชิ้นไม้ฝานบางๆ มาประกอบให้ยึดติดกันด้วยกาว ในขณะที่พาร์ติเคิลบอร์ดและ MDF จะเป็นการเอาเศษไม้เล็กๆ มาอัดรวมกัน ทั้งนี้พาร์ติเคิลบอร์ดจะมีเนื้อหยาบกว่า เห็นได้ชัดจากสันด้านข้างที่ปรากฏลิ่มเนื้อไม้ชัดเจน หากเปรียบเทียบกันแล้ว สันของ MDF จะเรียบเนียนมากกว่า เนื่องจากเศษไม้ที่นำมาอัดรวมมีความละเอียดสูง และตัววัสดุเองก็มีคุณภาพและราคาที่สูงกว่าด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้รับเหมาปัจจุบันมักจะนิยมใช้ MDF มากกว่าพาร์ติเคิลบอร์ด เนื่องจากผิวของ MDF นั้นสามารถทำสีพ่นได้ดี เหมาะกับการทำเฟอร์นิเจอร์บิวท์อินที่ต้องการความเรียบร้อยสวยงาม

อย่างไรก็ตาม ในการเลือกใช้วัสดุแต่ละประเภท ย่อมต้องพิจารณาถึงประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นครัวเบาหรือครัวหนักก็ตาม เพราะหากเลือกใช้วัสดุผิดประเภทแล้ว ก็อาจจะนำมาซึ่งความสิ้นเปลืองและไม่ปลอดภัยได้ ยกตัวอย่างเช่น หากเราออกแบบครัวในลักษณะของครัวเบา แต่กลับเอามาใช้ภายในร้านอาหารจีนที่มีขั้นตอนการทำอาหารซับซ้อน และใช้เปลวโชติช่วงในการปรุงอาหารแทบตลอดเวลา นอกจากจะไม่สะดวกในแง่ของการทำงานแล้ว แน่นอนว่าอายุการใช้งานของครัวย่อมไม่ยืดยาว หนำซ้ำยังอาจจะเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ได้ ดังนั้นก็ควรเลือกใช้วัสดุก่ออิฐฉาบปูนทดแทน เพราะความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยของการใช้สอยย่อมมากกว่าความสวยงามเสมอ

ขอบคุณที่มาของบทความ : www.scgbuildingmaterials.com

ใส่ความเห็น

×

Cart