เตรียมงบประมาณไว้ใช้ต่อเติมบ้าน

เตรียมงบประมาณไว้ใช้ต่อเติมบ้าน

เตรียมงบประมาณไว้ใช้ต่อเติมบ้าน

การกะงบประมาณต่อเติมบ้าน จะคล้ายกับกรณีสร้างบ้านใหม่ ซึ่งมีทั้งค่าก่อสร้าง  
ค่างานตกแต่งภายใน รวมถึงค่าบริการวิชาชีพ เช่น วิศวกร สถาปนิก นักออกแบบ เป็นต้น

การเตรียมงบประมาณนับเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนต่อเติมบ้าน ซึ่งดูเผินๆ แล้วการต่อเติมบ้านก็ดูคล้ายกับการสร้างบ้านใหม่เพียงแต่จะเป็นการสร้างเฉพาะส่วนเล็กๆ ที่ต้องการต่อเติมขึ้นมา ดังนั้น เราอาจลองกะงบประมาณในการต่อเติมบ้านโดยอ้างอิงเทียบกับการสร้างบ้านใหม่ ควบคู่กับการคำนึงถึงรายละเอียดแต่ละส่วนซึ่งแตกต่างกันไปเฉพาะกรณี

งบประมาณค่าก่อสร้างส่วนต่อเติม
ราคาค่าก่อสร้างบ้านใหม่รวมค่าแรงและค่าวัสดุ กรณีเป็นตึกชั้นเดียวอาจประมาณไว้ที่ 11,000-14,400 บาทต่อตารางเมตร (อ้างเกณฑ์ ราคาประเมินค่าก่อสร้าง เดือน มิ.ย. 2559 โดยมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย) ซึ่งราคาดังกล่าวนี้ เราอาจแบ่งงบประมาณเป็น 3 ส่วน คือ งานโครงสร้าง (30-35% ของค่าก่อสร้าง) งานระบบไฟฟ้าประปาและระบายน้ำ (10-15% ของค่าก่อสร้าง)  งานสถาปัตย์กับวัสดุปิดผิว (50-60% ของค่าก่อสร้าง) สำหรับงานต่อเติมบ้านเราอาจอ้างอิงงบประมาณการสร้างบ้านใหม่ดังกล่าวโดยอาศัยหลักการดังนี้

งานโครงสร้าง  โครงสร้างสำหรับส่วนต่อเติม สามารถเลือกรูปแบบหลากหลายตามความเหมาะสมของพื้นที่ ซึ่งค่าใช้จ่ายก็จะต่างกันไป สำหรับบ้านทั่วไปที่ใช้ระบบฐานรากโดยลงเสาเข็มลึกถึงชั้นดินแข็ง หากส่วนต่อเติมใช้ระบบโครงสร้างแบบเดียวกัน ก็อาจประมาณราคาแบบเดียวกับโครงสร้างบ้านใหม่ (30-35% ของค่าก่อสร้างทั้งหมด)  แต่ถ้าหากส่วนต่อเติมใช้โครงสร้างแบบอื่นๆ ก็จะมีค่าใช้จ่ายน้อยลงตามลำดับ ตั้งแต่การทำระบบฐานรากโดยใช้เสาเข็มสั้นหรือไม่มีเสาเข็ม การทำฐานเข็มแบบปูพรม ไปจนถึงระบบพื้นที่ไม่มีเสาเข็ม อย่างพื้นคอนกรีตวางบนดิน (Slab on Ground) เป็นต้น

 
เตรียมงบประมาณไว้ใช้ต่อเติมบ้าน 1
ภาพ: โครงสร้างพื้นแบบต่างๆ ที่นิยมใช้สำหรับส่วนต่อเติม

งานระบบไฟฟ้าประปาและระบายน้ำ หากอ้างอิงตามงบประมาณการสร้างบ้านใหม่ จะเป็น 10-15% ของค่าก่อสร้างบ้าน ยกตัวอย่างการต่อเติมครัว จะต้องเดินระบบประปา ท่อน้ำดี/น้ำเสีย ถังดักไขมัน รวมถึงระบบไฟฟ้าที่รองรับ ไฟส่องสว่าง และอุปกรณ์ทั่วไป เช่น เครื่องดูดควัน พัดลมระบายอากาศ ฯลฯ กรณีต่อเติมโดยไม่มีการติดตั้งงานระบบก็จะไม่มีค่าใช้จ่ายส่วนนี้ เช่น เดิมเป็นโรงจอดรถ ซึ่งมีโคมไฟติดไว้อยู่แล้ว เมื่อต่อเติมเป็นห้องนอนก็ไม่จำเป็นต้องเดินงานระบบเพิ่มมากนัก เป็นต้น

งานสถาปัตย์กับวัสดุปิดผิว อาจอ้างอิงตามงบประมาณการสร้างบ้านใหม่ คือ 50-60% ของค่าก่อสร้าง (งบประมาณส่วนนี้มักจะยืดหยุ่นมากที่สุด ขึ้นอยู่กับชนิดวัสดุที่เลือกใช้)

งบประมาณอื่นๆ ในการต่อเติมบ้าน
นอกจากค่าก่อสร้างและวัสดุแล้ว ในการต่อเติมบ้าน บางครั้งอาจมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มเติมคล้ายกับการสร้างบ้านใหม่ ยกตัวอย่างการต่อเติมห้องนอน ห้องนั่งเล่น มักมีค่างานตกแต่งภายใน เช่น เฟอร์นิเจอร์  ผ้าม่าน โคมไฟ ซึ่งจะใช้งบประมาณมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับระดับคุณภาพของวัสดุที่เลือก นอกจากนี้ยังมีค่าบริการวิชาชีพแต่ละสาขา ทั้งวิศวกรผู้ออกแบบและคำนวณโครงสร้าง  สถาปนิกหรือนักออกแบบผู้ออกแบบพื้นที่ใช้สอยของส่วนต่อเติมให้ลงตัวและมีรูปลักษณ์สวยงาม เป็นต้น

เตรียมงบประมาณไว้ใช้ต่อเติมบ้าน 2
ภาพ: ตัวอย่างการตกแต่งห้องนอนผู้สูงอายุ ซึ่งมีทั้งเฟอร์นิเจอร์ วัสดุตกแต่ง รวมถึงวัสดุอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยอย่างวัสดุปูพื้นกันกระแทก ไฟเส้นนำทางติดตั้งใต้เตียง เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า เราสามารถใช้งบประมาณการก่อสร้างบ้านใหม่เป็นหลักอ้างอิงในการคำนวณค่าใช้จ่ายในการต่อเติมบ้านได้ อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายบางส่วนโดยเฉพาะ “ค่าก่อสร้าง” หากคำนวณเป็น “ราคาต่อตารางเมตรแล้ว” อาจเท่ากันกับการสร้างบ้านใหม่ แม้เนื้องานจะน้อยกว่าก็ตาม อย่างเช่น ส่วนต่อเติมใช้โครงสร้างฐานรากแบบเสาเข็มสั้น และไม่มีการติดตั้งงานระบบ แต่ราคาต่อตารางเมตรกลับใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายการสร้างบ้านที่ลงเสาเข็มลึกถึงชั้นดินแข็ง พร้อมติดตั้งงานระบบไฟฟ้าประปา ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะงานต่อเติมมักมีขนาดเล็ก ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ค่าก่อสร้างงานขนาดเล็กจะมีราคาต่อตารางเมตรสูงกว่าการก่อสร้างงานขนาดใหญ่อยู่แล้ว จุดนี้นับเป็นสิ่งที่เจ้าของบ้านต้องคำนึงและรับทราบทุกครั้งในการวางแผนและกะงบประมาณในการต่อเติมบ้า

ขอขอบคุณที่มาของบทความ
www.scgbuildingmaterials.com

ใส่ความเห็น

×

Cart