ใช้ถังบำบัดสำเร็จรูป ต้องสูบส้วมไหม?

ใช้ถังบำบัดสำเร็จรูป ต้องสูบส้วมไหม?

ใช้ถังบำบัดสำเร็จรูป ต้องสูบส้วมไหม?

ใช้ถังบำบัดสำเร็จรูป ต้องสูบส้วมไหม? สาเหตุที่แท้จริงของปัญหากดชักโครกไม่ลงในกรณีใช้ถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูป รวมถึงเข้าใจหลักการทำงานพร้อมแนวทางแก้ไขและป้องกันที่ถูกต้อง

เจ้าของบ้านหลายคนที่เคยอยู่อาศัยในบ้านหลังเก่าอายุเกินกว่า 20 ปีอาจคุ้นชินกับการเรียกใช้บริการสูบส้วมเมื่อเกิดปัญหาส้วมเต็ม ต่อมาเมื่อได้ย้ายมาอาศัยในบ้านหลังใหม่ซึ่งมีระบบบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูป บางคนเจอปัญหากดชักโครกไม่ลง ในขณะที่บางคนใช้ห้องน้ำได้ราบรื่นดี แต่ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดมักจะมีคำถามว่าควรเรียกใช้บริการสูบส้วมเหมือนเช่นเคยหรือไม่ 

อันที่จริงแล้วการสูบส้วมนั้น จะทำกับระบบบำบัดน้ำเสียแบบดั้งเดิมคือ ระบบบ่อเกรอะ-บ่อซึม โดยการทำงานของบ่อเกรอะ-บ่อซึม น้ำเสียและกากของเสียจะไหลเข้าไปยังบ่อเกรอะก่อน กากของเสียจะตกตะกอนอยู่ในบ่อเกรอะและมีจุลินทรีย์ช่วยย่อยสลาย ส่วนน้ำจะไหลต่อไปยังบ่อซึมแล้วค่อยๆ ซึมออกสู่ดิน แต่หากดินในบริเวณนั้นมีน้ำใต้ดินอยู่มากโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน น้ำในบ่อซึมจะซึมออกไม่ได้ ทำให้บ่อทั้งสองเต็ม จึงต้องดำเนินการสูบส้วมออกเพื่อให้ใช้งานได้ตามปกติ

ภาพ: ปัญหาส้วมเต็มของบ่อเกรอะ-บ่อซึมเพราะมีน้ำในดินมากจนน้ำในบ่อซึมออกมาไม่ได้
ภาพ: ปัญหาส้วมเต็มของบ่อเกรอะ-บ่อซึมเพราะมีน้ำในดินมากจนน้ำในบ่อซึมออกมาไม่ได้

ในปัจจุบันบ้านใหม่ๆ มักจะใช้ระบบถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูป ซึ่งกากของเสียจะตกตะกอนไปที่ก้นถังและมีจุลินทรีย์ย่อยสลาย ส่วนน้ำที่ผ่านการบำบัดโดยจุลินทรีย์แล้วจะถูกปล่อยออกไปทางท่อระบายน้ำสาธารณะ ถังบำบัดสำเร็จรูปจึงมีโอกาสเต็มได้ยาก อย่างไรก็ตามถังบำบัดสำเร็จรูปอาจเต็มได้เช่นกัน หากถังบำบัดมีขนาดเล็กเกินไปไม่สัมพันธ์กับปริมาณการใช้งาน หรือมีจุลินทรีย์น้อยเกินไปเนื่องจากมีการใช้น้ำยาล้างห้องน้ำที่เป็นกรดหรือด่างรุนแรงในโถสุขภัณฑ์บ่อยๆ ทำให้จุลินทรีย์ตายไปเยอะจนย่อยสลายกากไม่ทัน

ภาพ: น้ำที่ผ่านการบำบัดจากถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปจะถูกลำเลียงไปยังท่อระบายน้ำสาธารณะ
ภาพ: น้ำที่ผ่านการบำบัดจากถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปจะถูกลำเลียงไปยังท่อระบายน้ำสาธารณะ

การหาสาเหตุของปัญหาที่กล่าวมา ในกรณีถังบำบัดมีขนาดไม่เหมาะสม ให้ลองคำนวณขนาดถังได้จากสูตร ขนาดถังบำบัดน้ำเสีย (ลิตร) = จำนวนผู้อยู่อาศัย  x 0.8 x ปริมาณน้ำใช้ต่อคนต่อวัน (ลิตร) x 1.5 หากถังบำบัดมีขนาดเล็กเกินไปมากจากที่คำนวณได้ อาจพิจารณาเปลี่ยนถังบำบัดใหม่ ส่วนกรณีที่จุลินทรีย์มีไม่เพียงพอ ซึ่งสังเกตได้จากกลิ่นเหม็นที่เกิดขึ้น การแก้ไขทำได้โดยการเติมจุลินทรีย์ลงในถังบำบัดโดยตรง หรือเติมผ่านโถสุขภัณฑ์ก็ได้ นอกจากนี้ควรลดความถี่ในการล้างห้องน้ำลง หรือเลือกใช้น้ำยาที่ไม่เป็นกรดหรือด่างรุนแรง

 
ภาพ: ตัวอย่างตารางแสดงขนาดถังบำบัดน้ำเสียตามจำนวนผู้ใช้
ภาพ: ตัวอย่างตารางแสดงขนาดถังบำบัดน้ำเสียตามจำนวนผู้ใช้

อย่างไรก็ตาม การราดน้ำหรือกดชักโครกไม่ลง อาจไม่ได้เกิดจากถังบำบัดเพียงสาเหตุเดียว แต่อาจจะเกิดจากการติดตั้งตลอดจนระบบระบายน้ำเสียด้วย ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งสุขภัณฑ์ที่ไม่ถูกต้อง ติดตั้งท่ออากาศผิดวิธีหรือมีสิ่งอุดตันในท่ออากาศ ท่อระบายน้ำเสียมีสิ่งอุดตัน ฯลฯ นอกจากนี้หากรางระบายน้ำสาธารณะมีระดับน้ำสูงกว่าท่อที่ปล่อยออกจากบ้าน หรือพื้นที่ใกล้เคียงมีน้ำท่วม ก็อาจส่งผลต่อความไม่คล่องตัวของระบบบำบัดน้ำเสียได้เช่นกัน

ภาพ: แสดงตำแหน่งการติดตั้งท่ออากาศที่เหมาะสม
ภาพ: แสดงตำแหน่งการติดตั้งท่ออากาศที่เหมาะสม

โดยสรุปแล้วการสูบสิ่งปฏิกูลหรือสูบส้วมจากถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น แต่หากราดน้ำหรือกดชักโครกไม่ลง ควรตรวจสอบระบบท่อน้ำเสียก่อนว่ามีสิ่งอุดตันหรือมีความผิดปกติหรือไม่ และหากมีกลิ่นเหม็นจากถังบำบัดเป็นไปได้ว่าจุลินทรีย์ในถังบำบัดมีไม่เพียงพอ อาจต้องเติมจุลินทรีย์ช่วย และควรงดการเทน้ำยาล้างห้องน้ำที่เป็นกรดหรือด่างแรงๆ ลงในโถส้วมบ่อยๆ

ชวนนท์ โฆษกิจจาเลิศ
การศึกษา: สถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โพสต์นี้มีความคิดเห็นเดียว

  1. ใช้ถังบำบัดสำเร็จรูป ต้องสูบส้วมไหม? สาเหตุที่แท้จริงของปัญหากดชักโครกไม่ลงในกรณีใช้ถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูป รวมถึงเข้าใจหลักการทำงานพร้อมแนวทางแก้ไขและป้องกันที่ถูกต้อง

ใส่ความเห็น

×

Cart