7 รายละเอียด “ออกแบบชายคาบ้าน” ให้ใช้ทน กันแดด กันฝนได้ดี
7 รายละเอียด “ออกแบบชายคาบ้าน” ให้ใช้ทน กันแดด กันฝนได้ดี “ชายคา” องค์ประกอบสำคัญของบ้าน ช่วยปกป้องบ้านจากแสงแดดและลมฝน บ้านไหนไม่มีชายคา มักจะเจอปัญหาบ้านร้อนอบอ้าวและฝนสาด เพราะแสงแดดและลมฝนจะกระทบกับผนังบ้านและช่องหน้าต่างโดยตรง ชายคาจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบ้านพักอาศัยในเขตร้อนชื้นอย่างเช่นประเทศไทย
ออกแบบชายคาบ้านให้ใช้ทน
เนื้อหานี้ได้นำแนวทางการออกแบบชายคาบ้าน โดยสถาปนิก PunPlan ซึ่งไม่เพียงแค่รองรับกับบ้านหลังคาจั่วหรือปั้นหยาแบบไทยๆ เท่านั้น แต่ยังสามารถประยุกต์ใช้ ทำชายคาร่วมกับบ้านสไตล์โมเดิร์นได้อีกด้วยครับ
บทความโดย : บ้านไอเดีย
ออกแบบ : PunPlan
1.ระยะชายคายื่นยาวกี่เมตรดี
ระยะฝ้าชายคาบ้านตามมาตรฐาน มีระยะยื่นประมาณ 80-120 เซนติเมตร ระยะดังกล่าวเป็นระยะที่งานโครงสร้างหลังคาทั่วไปรองรับ ช่วยกันแดดกันฝนได้พอประมาณ แต่หากต้องการให้ป้องกันแดดฝนได้ดียิ่งขึ้น ชายคาควรมีระยะยื่นออกจากตัวบ้าน 100-200 เซนติเมตร ซึ่งจะช่วยปกป้องบ้านจากฝนและแสงแดดได้เป็นอย่างดี แต่จำเป็นต้องเสริมงานโครงสร้าง เช่น เสริมแขนค้ำหรือทำเสามารับชายคา
อย่างไรก็ตามระยะฝ้าชายคาควรคำนึงถึงความเหมาะสมของงานออกแบบนั้น ๆ ร่วมด้วย เพราะหากชายคายื่นยาวเกินไปอาจทำให้บ้านดูแปลกตา ไม่เข้าสัดส่วน ซึ่งฝ้าชายคาที่ยาวพิเศษจะเหมาะกับบ้านสไตล์ Tropical Modern เป็นสไตล์ที่เหมาะกับภูมิอากาศร้อนชื้นอย่างประเทศไทยครับ
2.ชายคาของบ้านโมเดิร์นทรงกล่อง
บ้านกล่องสไตล์โมเดิร์นกับฝ้าชายคาบ้าน เป็นฟังก์ชันที่มักขัดแย้งต่อกัน ด้วยรูปทรงกล่องที่เน้นความเฉียบคมดูเนียนตา สถาปนิกจึงไม่นิยมออกแบบฝ้าชายคาให้บ้านโมเดิร์นเท่าไหร่นัก แต่การอยู่อาศัยในพื้นที่เขตร้อนชื้นฝนตกชุกอย่างประเทศไทย แม้รูปแบบจะโมเดิร์นแค่ไหน ก็จำเป็นต้องประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม
แนวทางที่สถาปนิกปันแปลนนำมาใช้บ่อย เป็นการนำระเบียงมาประยุกต์ อาจออกแบบระเบียงยื่นจากตัวบ้านหรือเว้าพื้นที่ระเบียงเข้าไป โดยเน้นทำเฉพาะจุดที่มีบานประตูกว้าง ๆ เพื่อให้หลังคาระเบียงเป็นเสมือนพื้นที่ชายคา ช่วยทั้งบังแดด บังฝน และเป็นพื้นที่นั่งพักผ่อนตากอากาศได้ อย่างภาพประกอบด้านล่างนี้จะสังเกตได้ว่า การยื่นระเบียงชั้น 2 ทำให้เกิดพื้นที่ชายคาชั้น 2 และพื้นของระเบียงชั้น 2 ยังเป็นเสมือนชายคาของชั้น 1 อีกด้วย
3.ชายคาคอนกรีต “ขอบบนกันน้ำล้น ขอบล่างกันน้ำย้อน”
สำหรับบ้านโมเดิร์นบางจุดอาจไม่เหมาะกับทำระเบียง สถาปนิกมักออกแบบชายคาคอนกรีตให้มีระยะยื่นมาทดแทนชายคาทั่วไป จุดสำคัญของชายคาคอนกรีตคือระบบกันซึม จำเป็นต้องใช้คอนกรีตชนิดกันซึมพร้อมกับทาน้ำยากันซึมทับอีกชั้น และด้วย Slope ของชายคาที่มีไม่มากนัก จึงมักมีผลกับปัญหาน้ำหยดย้อยบริเวณปลายชายคา วิธีป้องกันสามารถทำได้ด้วยวิธีหล่อคอนกรีตขอบชายคากันน้ำ ทั้งด้านบนและด้านล่าง โดยขอบชุดบนทำหน้าที่กั้นน้ำ ให้น้ำไหลตามจุดระบายที่กำหนดไว้ ส่วนขอบด้านล่างทำหน้าที่รับขอบฝ้าชายคา จะช่วยให้จบงานสวยเนี้ยบกว่าไม่เว้นขอบครับ
4.เซาะร่องกันน้ำย้อน
อีกรายละเอียดเล็ก ๆ ที่ควรให้ความสำคัญหากต้องการทำชายคาด้วยงานคอนกรีต คือ การเซาะร่องเพื่อป้องกันน้ำไหลย้อน เมื่อมีฝนสาดหรือน้ำไหลบริเวณขอบชายคา น้ำจะหยุดไหลและหยดลงเมื่อมาถึงร่องขอบที่เซาะไว้ จะช่วยป้องกันชายคาจากความชื้น ยืดอายุการใช้งานได้ยาวนานกว่าเดิม
วัสดุที่ใช้เซาะร่องนิยมใช้ร่องตัว U มีให้เลือกทั้งแบบ PVC และ อลูมิเนียม แนะนำขนาด 6 mm ก็เพียงพอครับ
5.วัสดุทำฝ้าชายคา
บ้านหลายหลังเจอปัญหาฝ้าชายคาผุพัง มีรอยคราบน้ำ สาเหตุหลักเกิดจากการเลือกวัสดุฝ้าที่ไม่เหมาะสม เพราะด้วยตำแหน่งของชายคาเป็นพื้นที่กึ่งภายนอก วัสดุทำฝ้าจึงต้องมีคุณสมบัติป้องกันแดด ฝนได้ดีและควรเป็นฝ้าที่ปลวกไม่กิน
วัสดุที่สถาปนิกมักนำมาสเปกงานฝ้าชายคาให้เจ้าของบ้าน อาทิเช่น ฝ้าไม้สังเคราะห์จากวัสดุไฟเบอร์ซีเมนต์ , WPC และที่นิยมสุด คือ ฝ้าไฟเบอร์ซีเมนต์ เช่น ฝ้าสมาร์ทบอร์ด เอสซีจี เนื่องจากฝ้าสมาร์ทบอร์ด เอสซีจี ถูกออกแบบมาให้มีความทนทาน ทนแดด ทนฝน รองรับการใช้งานกับสภาพอากาศในเมืองไทย ปัจจุบันมีรุ่นให้เลือกหลากหลายดีไซน์ ทั้งแบบผิวเรียบและนำมาสีน้ำอะคริลิคตามเฉดสีที่ชอบ การทำเส้นเซาะร่อง หรือแม้แต่ลายไม้ ซึ่งฝ้าสมาร์ทบอร์ด เอสซีจี มีรุ่นที่มีลายไม้สำเร็จ เพียงให้ช่างทำสีไม้ก็จะได้อารมณ์เสมือนไม้จริง หมดกังวลปัญหาปลวกที่จะตามมาภายหลัง
6.เลือกใช้ฝ้าชายคาระบายอากาศ
70% ของปัญหาบ้านร้อนเกิดจากแสงแดดสาดส่องลงหลังคาบ้าน ก่อให้เกิดความร้อนสะสมใต้โถงหลังคาและค่อย ๆ แผ่รังสีความร้อนลงสู่ฝ้าเพดานภายในบ้าน การออกแบบฝ้าชายคาให้สามารถระบายอากาศได้จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยกระจายความร้อนออกจากโถงหลังคาก่อนที่ความร้อนดังกล่าวจะแผ่ลงตัวบ้าน
ปัญหานี้สามารถแก้ไขด้วยการทำฝ้าชายคาตีแบบเว้นร่อง เพื่อให้เกิดช่องว่างเล็ก ๆ ให้อากาศถ่ายเทได้ อย่างบ้านไทยในอดีตจะใช้วิธีตีฝ้าด้วยไม้ซึ่งจะมีช่องว่างเล็ก ๆ แต่สำหรับบ้านยุคใหม่ ปัจจุบัน ฝ้าสมาร์ทบอร์ด เอสซีจี รุ่น ระบายอากาศ–โพรเทคชั่น มีให้เลือกหลายรูปแบบ ทั้งยังมีตาข่ายกันแมลงสำเร็จรูปติดแนบสนิทกับแผ่นฝ้ามาจากโรงงาน จึงช่วยระบายอากาศและป้องกันแมลงเข้าไปทำรังใต้ฝ้าได้ครับ
7.ปิดขอบชายคาด้วยเชิงชาย
งานหลังคามักมีงานโครงสร้างและวัสดุต่าง ๆ มาประกอบรวมกัน อาจส่งผลให้งานดูไม่เรียบร้อย สถาปนิกจึงมักเก็บความเรียบร้อยด้วยเชิงชาย ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกหลายแบบ เช่น กรณีเป็นหลังคากระเบื้องทั่วไปนิยมใช้ร่วมกับไม้เชิงชาย เอสซีจี ซึ่งเป็นวัสดุไฟเบอร์ซีเมนต์ ที่มีการออกแบบมาให้เส้นสายดูตรงได้แนวหรือกรณีบ้านสไตล์โมเดิร์นนิยมนำไม้ตกแต่ง เอสซีจี รุ่น ซี-ชาแนลหรือรุ่น ซี-ชาแนล พลัส มาประยุกต์ทำเป็นฝ้าชายคาที่มีความเรียบเท่เสมือนงานเหล็ก
7 รายละเอียด “ออกแบบชายคาบ้าน” ให้ใช้ทน กันแดด กันฝนได้ดี “ชายคา” องค์ประกอบสำคัญของบ้าน ช่วยปกป้องบ้านจากแสงแดดและลมฝน บ้านไหนไม่มีชายคา มักจะเจอปัญหาบ้านร้อนอบอ้าวและฝนสาด เพราะแสงแดดและลมฝนจะกระทบกับผนังบ้านและช่องหน้าต่างโดยตรง ชายคาจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบ้านพักอาศัยในเขตร้อนชื้นอย่างเช่นประเทศไทย